เกี่ยวกับเรา

ประวัติสถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ยุคก่อตั้ง (พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๕๐๐)

+ แสดงเนื้อหา +

- ซ่อนเนื้อหา -

         สถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา เนื่องจาก ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ผู้บริหารการศึกษาขณะนั้น เล็งเห็นว่าวิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อมวลชนที่สามารถ เผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร และเข้าถึงประชาชนได้โดยสะดวก จึงมีการจัดตั้ง สถานีวิทยุศึกษา ขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิค ทุ่งมหาเมฆ กระจายเสียงครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ด้วยเครื่องส่งที่คณาจารย์วิทยาลัยเทคนิคประกอบเอง มีกำลังส่งเพียง ๕๐๐ วัตต์ ใช้ความถี่คลื่นยาว ๑๑๖๐ กิโลไซเคิล และคลื่นสั้น ๑๑.๖ เมกาไซเคิล
         กองเผยแพร่การศึกษา กรมวิชาการ ในขณะนั้น รับผิดชอบการบริหารงานด้านจัดรายการ ซึ่งต่อ มาย้ายมาสังกัดสำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ในระยะแรกรายการ ที่จัดออกอากาศ ได้แก่ บทความ รายการสำหรับเด็ก ดนตรีไทยและสากล ละคร ทั้งละครไทยและละครภาษาอังกฤษ วิชาชุดครูระดับต่างๆ ผู้จัดรายการของวิทยุศึกษา เช่น ดร.ก่อ สวัสดิ์พานิชย์, เปลื้อง ณ นคร, เจือ สตะเวทิน,
ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์,เจริญพัน ชุมสาย ณ อยุธยา, ฉันท์ ขำวิไล, จินตนา ยศสุนทร, ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย, ครูชิ้น ศิลปบรรเลง,ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล รายการวิทยุในยุคนี้ เช่น วิทยุปริทรรศน์ เยี่ยมวิทยุศึกษา เป็นต้น

         นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ วารสารวิทยุศึกษา เพื่อประชาสัมพันธ์วิทยุศึกษาให้เป็นที่รู้จัก ประกอบด้วยรายการกระจายเสียง ข่าวสารของสถานี บทความ และความรู้ด้านต่างๆ ออกเป็นรายปักษ์ ฉบับละ ๑ บาท โดยฉบับแรกออกเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ก่อนสถานีวิทยุศึกษาเริ่มส่งกระจายเสียงเป็นครั้งแรก

ยุคแรก (พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๑๔)

+ แสดงเนื้อหา +

- ซ่อนเนื้อหา -

          หลังจากจัดตั้งสถานีวิทยุศึกษาแล้ว ๔ ปี จึงเริ่มบริการวิทยุโรงเรียน โดยเริ่มออกอากาศต้นปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๐๑ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพของการเรียนการสอนในโรงเรียนชนบทที่ยังขาดแคลนครูและอุปกรณ์ในการเรียนการสอน วิชาที่จัดออกอากาศ ได้แก่ สังคมศึกษา ดนตรีและขับร้อง ระดับประถม และภาษาอังกฤษระดับมัธยม ในปี ๒๕๑๐ รัฐบาลประเทศออสเตรเลียได้ให้ความช่วยเหลือ ภายใต้แผนโคลัมโบ มอบเครื่องส่งขนาด ๑๐ กิโลวัตต์ รวมทั้งติดตั้งเสาอากาศสูง ๑๒๕ เมตร และต่อมาได้ให้เครื่องรับฟังวิทยุจำนวน ๓,๐๐๐ เครื่องแก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อแจกจ่ายให้โรงเรียนที่รับฟังวิทยุโรงเรียนด้วย
         การดำเนินงานของวิทยุศึกษาในระยะนี้ได้ขยายขอบข่ายงานผลิตรายการโดยเชิญวิทยากรภายนอกที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะรายการเกี่ยวกับการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มาร่วมรายการ เช่น น.พ.ประเวศ วะสี,ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน,น.พ.อุทัย รัตนิน,ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา,ดร.เจตนา นาควัชระ,ดร.เกษม สุวรรณกุล,ดร.สมศักดิ์ ชูโต,ดร.เขียน ธีระวิทย์,ดร.นววรรณ พันธุเมธา,คุณพิชัย วาสนาส่ง เป็นต้น การจัดรายการให้ความสำคัญกับบท (script) ซึ่งต้องเตรียมล่วงหน้าและตรวจสอบก่อนออกอากาศทุกครั้ง บางครั้งมีรายการสัมภาษณ์นอกสถานที่ และเพิ่มการนำเสนอข่าวในบางช่วงเวลาซึ่งส่วนมากเป็นการอ่านข่าว
       รายการที่จัดออกอากาศ เช่น วิทยุวิทยา วิชาชุดครู เพื่อให้ครูติดตามฟังและสามารถสอบเลื่อนวิทยฐานะจากกรมการฝึกหัดครูในสมัย นั้นได้ รายการส่งเสริมด้านดนตรี โดยเฉพาะรายการดนตรีไทยของวิทยุศึกษา ถือเป็นเอกลักษณ์ของสถานีที่นำเสนอการบรรเลงดนตรีที่ไพเราะและเป็นแบบฉบับ ของดนตรีไทยอย่างแท้จริง ทั้งวงดนตรีจากกรมศิลปากรและวงดนตรีของบรมครูดนตรีไทย เช่น วงพาทยโกศล เป็นต้น ผู้ที่มาจัด รายการดนตรีไทยให้วิทยุศึกษาเป็นประจำ เช่น ครูมนตรี ตราโมท, ครูประสิทธิ ถาวร, นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล, นายแพทย์สุพจน์ อ่างแก้ว และอีกหลายๆท่าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูโรงเรียนต่างๆได้มาแสดงดนตรีไทยและสากล ด้วย วิทยุศึกษายังได้จัดรายการละคร ซึ่งเป็นละครที่เขียนขึ้นเอง ส่วนใหญ่เป็นละครที่ส่งเสริมด้านคุณธรรม และบางครั้งก็มีผู้แสดงกิตติมศักดิ์ เช่น พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งสถานีวิทยุศึกษา คุณหญิงอัมพร มีศุข ม.ร.ว.ฉันทากร วรวรรณ นอกจากนี้มีการจัดออกอากาศสด รายการธรรมะ ซึ่งเป็นการแสดงธรรมในห้องส่งที่มีครู ข้าราชการ และนักเรียน มาร่วมฟัง ออกอากาศเป็นประจำทุกสัปดาห์ และได้พัฒนาการจัดทำรายการในระยะต่อมาเป็นรายการชุดความรู้สั้นๆเกี่ยวกับ ธรรมะในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการนำเทปไปบันทึกเสียงรายการที่วัด ซึ่งผู้จัดก็มี ท่านปัญญา นันทภิกขุ เป็นต้น
          สิ่งหนึ่งที่ทำให้สถานีวิทยุศึกษาเป็นที่รู้จักในยุคนี้คือ การประกาศผลสอบของผู้ที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งเป็นชั้นมัธยมสูงสุดในสมัยนั้น และมีการสอบโดยใช้ข้อสอบเดียวกันทั่วประเทศ วิทยุศึกษาเป็นสถานีวิทยุแห่งเดียวที่ประกาศผลสอบของผู้สอบได้อันดับ ๑๕๐ และผู้สอบได้ทุกคน จนกระทั่งมีการยกเลิกการสอบแบบวัดผลทั่วประเทศ และให้โรงเรียนต่างๆ จัดสอบเอง

ยุคพัฒนา (พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๓๖)

+ แสดงเนื้อหา +

- ซ่อนเนื้อหา -

      สถานีวิทยุศึกษาออกอากาศที่วิทยาลัยเทคนิคทุ่งมหาเมฆมา จนถึงปี ๒๕๑๕ จึงได้ย้ายมาออกอากาศที่ตึกวิทยุศึกษา ในบริเวณกระทรวงศึกษาธิการในระบบ AM ความถี่ ๑๑๘๐ KHz, ๓๒๑๐, และ ๖๐๘๐ KHz และกระจายเสียงใน ระบบ FM ความถี่ ๙๐.๗๕ MHz ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่ในระบบ AM เป็น ๑๑๙๗ KHz และระบบ FM เป็น ๙๒ MHz และในปัจจุบันออกอากาศด้วยระบบ AM ๑๑๖๑ KHz และ FM ๙๒ MHz
      ในด้านการจัดรายการของวิทยุศึกษา มีการพัฒนารายการละครโดยนำนวนิยายของนักเขียนที่ มีชื่อเสียงมาปรับเป็นละครวิทยุโดยขออนุญาตผู้เขียนก่อนนำออกอากาศ
      รายการสำหรับเด็กเพิ่มพัฒนาการเป็นรายการประเภท magazine และ documentary มีความหลากหลายในรายการ เช่น มีนิทาน การสัมภาษณ์
การตอบจดหมาย เพลง เป็นต้น เช่นเดียวกับรายการสำหรับแม่บ้านและคนที่ไม่ได้ทำงานหรือทำงานในโรงงาน วิทยุศึกษาก็เริ่มจัดทำ รายการที่ให้ความรู้เรื่องการ ดูแลรักษาสุขภาพ โภชนาการ การประกอบอาหาร การเลี้ยงดูลูก คหเศรษฐศาสตร์ ตอบจดหมายผู้ฟัง เป็นต้น รายการสำหรับเด็กสมัยนั้นคือ รายการเพื่อนคุย และรายการสำหรับแม่บ้านคือ รายการมิตรในเรือนรายการสอนภาษาต่างประเทศ จากเดิมที่มีแต่รายการสอนภาษาอังกฤษ ก็เริ่มมีรายการสอนภาษาฝรั่งเศส โดยความร่วมมือกับหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา และสมาคมฝรั่งเศส และรายการสอนภาษาเยอรมัน โดยความร่วมมือกับสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน ในการจัดทำรายการ

      นอกจากการปรับรายการแล้วในยุคนี้ยังมีการปรับวารสารวิทยุศึกษาให้ทัน สมัยยิ่งขึ้น ทั้งรูปเล่มและเนื้อหา โดยจัดทำเป็นเล่มเล็กๆ ขนาดสิบแปดหน้ายก ประกอบด้วยรายการกระจายเสียงทั้งวิทยุศึกษา วิทยุโรงเรียน และโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เนื้อหาของรายการต่างๆที่ออกอากาศไปแล้วทางวิทยุศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์แก่ ผู้ฟังก็นำมาลงในหนังสือด้วย รวมทั้งข่าวสารต่างๆของสถานี โดยออกหนังสือเป็นรายเดือนแจกให้ห้องสมุดโรงเรียน สถานศึกษา
หน่วยงานต่างๆ และผู้ที่สนใจ ที่บอกรับเป็นสมาชิก

      กระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาการใช้วิทยุเพื่อการศึกษาทั้งวิทยุโรงเรียนและวิทยุเพื่อการศึกษาประชาชนมาเป็นลำดับ ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญซึ่งทำให้การพัฒนาเป็นไปค่อนข้างช้า คืองบลงทุนที่สูงมาก แต่ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการก็สามารถร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ จัดสร้าง เครือข่ายวิทยุเพื่อการศึกษา
แห่งชาติ ขึ้นสำเร็จ เริ่มออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ โดยใช้งบประมาณส่วนหนึ่งจากเงินยืม IDA แห่งธนาคารโลก (International Development Association)
      เครือข่ายวิทยุที่สร้างขึ้นใหม่ มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาและการพัฒนาโดยเฉพาะ แม้ว่าจะสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ และกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินการ แต่มีหลักการตั้งแต่ต้นว่ากรมประชาสัมพันธ์จะไม่ผลิตรายการเอง แต่ให้หน่วยงานการศึกษาต่างๆรับผิดชอบการผลิตรายการทั้งหมด สำหรับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานแกนนำได้รับมอบหมายให้ผลิตรายการ ป้อนเครือข่ายวิทยุเพื่อการศึกษาแห่งชาตินี้ วันละ ๘ ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ ๕๖ ชั่วโมง และเพื่อรองรับภาระการผลิตรายการจำนวนมากมายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงลงทุน โดยใช้เงินช่วยเหลือ IDA สร้างศูนย์ผลิต รายการวิทยุแห่งใหม่ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อย่างทันสมัยขึ้นที่ถนนศรีอยุธยา เป็นที่ทำการใหม่ของหน่วยงานที่เรียกว่า ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา รับผิดชอบด้านการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อการศึกษา และในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มกำลังเครื่องส่งคลื่น AM ของสถานีวิทยุศึกษาเป็น ๒๐ กิโลวัตต์ โดยจัดซื้อเครื่องส่งระบบ PDM เป็นเครื่องแรกของประเทศไทย และย้ายเครื่องส่งดังกล่าวจากบริเวณวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ ไปยังที่ตั้งใหม่ที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน เสาอากาศสูง ๖๓ เมตร ส่วนคลื่น FM ของสถานีวิทยุศึกษานั้น ได้จัดหาเครื่องส่งที่กำลังสูงขึ้น ป๋น ๕ กิโลวัตต์ ติดตั้ง ณ อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ออกอากาศทั้งรายการวิทยุโรงเรียนและรายการวิทยุเพื่อการศึกษาประชาชน ส่วนการออกอากาศทางคลื่น AM ทั้งจากเครือข่ายวิทยุเพื่อการศึกษาและสถานีวิทยุศึกษานั้น ใช้วิธีส่งสัญญาณจากอาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา โดยมีเครื่องส่งสัญญาณไมโครเวฟ (Microwave) จากอาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาตรงไปยังสถานีแม่ข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพหลโยธิน และไปยังเครื่องส่งของสถานีวิทยุศึกษาที่แสมดำ นับได้ว่าเป็นการดำเนินการผลิตรายการและออกอากาศที่สมบูรณ์และทันสมัย
        
          เมื่อวิทยุศึกษาย้ายที่ทำการมาที่ถนนศรีอยุธยา เป็นยุคที่วิทยุกำลังเป็นขวัญใจของประชาชน รายการวิทยุศึกษาที่จัดออกอากาศให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้ฟัง และรายการความรู้ซึ่งนำเสนอเป็นการสนทนาพูดคุยกับวิทยากรมากขึ้น ไม่เน้นรายการวิทยุที่ต้องมีบทวิทยุเหมือนอย่างเดิมมากนัก แต่จะเน้นประเด็นคำถาม และการประสานงานล่วงหน้าก่อนการออกอากาศสดหรือบันทึกเทป บางครั้งเป็นการบันทึกเสียงทางโทรศัพท์ เพื่อความคล่องตัวในการจัดทำรายการและรวดเร็วในการนำเสนอ การจัดทำรายการเป็นแบบ phone-in มากขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในรายการเพื่อปรึกษาปัญหา หรือแสดงความคิดเห็น เนื้อหารายการปรับให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม โรคเอดส์ แนะแนวการศึกษา วิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ มีการนำเสนอเพลงที่ผู้ฟังต้องการฟังในบางรายการ และจัดทำรายการสอนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากสอนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน การจัดรายการเน้นการให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม เช่น รายการตามตะวัน สำหรับผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ศึกษา หาความรู้ด้วยตนเอง แม่บ้าน รายการโลกสดใส สำหรับกลุ่มเด็ก รายการนัดพบ สำหรับกลุ่มวัยรุ่น รายการเพื่อนยามค่ำ สำหรับผู้สูงอายุ
         ผู้จัดรายการวิทยุศึกษาในยุคนี้ ในช่วงต้นๆ อาทิ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล, รองศาสตราจารย์ ประทุมพร วัชรเสถียร และอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหลายท่าน ช่วงต่อมาก็มี ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ, ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์, ดร.จรวยพร ธรณินทร์, ศรีสมร คงพันธุ์ เป็นต้น

         นอกจากการจัดทำรายการวิทยุแล้ว วิทยุศึกษายังได้รวบรวมเนื้อหารายการความรู้ต่างๆที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ฟัง จัดพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่อีกด้วย เช่น เรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ หนังสือ ดวงดาวและอวกาศ, ความลับของจักรวาล, ทำไมท้องฟ้าจึงมีสีฟ้า, คณิตคิดสนุก, สัตว์ป่าน่ารัก, เด็กดี, ภาษาไทย ใช้ให้ถูก เป็นต้น หนังสือความรู้ต่างๆ เช่น สมุนไพรใกล้ตัว ธรรมะประดับใจ เกษตรน่ารู้ แอโรบิกด๊านซ์ขั้น พื้นฐาน รวมทั้งจัดทำคู่มือประกอบการรับฟังรายการสอนภาษาอังกฤษอีกหลายชุด เช่น Zero English, Five Minutes Everyday English, Project Aftermath, Bedtime Stories, Stories from Asia เป็นต้น

         สำหรับวิทยุโรงเรียนที่เคยออกอากาศทางวิทยุศึกษานั้นได้มีการปรับ เปลี่ยนไปออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษา เมื่อปีการศึกษา   ๒๕๒๗   แต่ยังคงใช้วิธีส่งสัญญาณจากอาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาตรงไปยังสถานี แม่ข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนน พหลโยธิน

ยุคแห่งการแข่งขัน (พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๔๑)

+ แสดงเนื้อหา +

- ซ่อนเนื้อหา -

       สถานีวิทยุศึกษาในบทบาทและภารกิจของสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาที่ไม่มีการโฆษณาสินค้ามาตลอดระยะเวลา ๓๙ ปี เมื่อถึงยุคที่สื่อมีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยมีบรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบาน และเทคโนโลยีทันสมัยเป็นตัวเสริม ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม ใยแก้ว และคอมพิวเตอร์
       ส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างสื่อมากขึ้นเพื่อช่วงชิงผู้ฟัง เนื่องจากประชาชนมีโอกาสเลือกรับสื่อได้มากขึ้น วิทยุเพื่อการค้า (commercial radio) พัฒนาอย่างรวดเร็ว และระบบการกระจายเสียงเป็นแบบเครือข่าย (network) มีรูปแบบการนำเสนอที่เน้นในด้านการรายงานข่าวด่วน ข่าวเด่น และข่าวเฉพาะหน้า เพราะได้เปรียบกว่าสื่ออื่นที่เข้าถึง ผู้รับได้มากกว่าและรวดเร็วกว่า
ส่งผลให้สถานีวิทยุศึกษาต้องปรับบทบาทและหน้าที่ตามสถานการณ์ที่ เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

        การจัดรายการเน้นการตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายมากขึ้น มีการนำเสนอข่าวการศึกษาทุกต้นชั่วโมงและการจัดทำข่าวประกอบเสียง เนื้อหารายการปรับให้ทันสมัย นำเสนอเรื่องประชาธิปไตย เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การศึกษา อาชีพการทำมาหากิน ครอบครัว สิทธิผู้บริโภค ศิลปวัฒนธรรม เพลงลูกทุ่ง และเพิ่ม รายการสอนภาษาจีน รายการสนทนาและอภิปรายด้านสังคม เศรษฐกิจ และเหตุการณ์บ้านเมือง มากขึ้น รายการวิทยุศึกษาที่ออกอากาศในยุคนี้ ได้แก่ เส้นทางประชาธิปไตย, ก้าวไปกับไอที, ๙๒ สนทนา, มิติใหม่ ไฮเทค, เมืองไทยไม้งาม, เส้นทางเศรษฐี, เพื่อนคู่คิด, เวทีผู้บริโภค, สืบสานมรดกไทย, เก็บเก่ามาเล่าใหม่, เวทีวาทะศิลป-วัฒนธรรม,ผู้จัดรายการ ก็เช่น พงศ์เทพ เทพกาญจนา,ดร.พรชัย พัชรินทร์ตนะกุล, ดร.บวร ปภัสราทร,เจนภพ จบกระบวนวรรณ, อเนก นาวิกมูล,อรอนงค์ อินทรจิตร,นรินทร์ กรินชัย เป็นต้น
    การดำเนินงานของสถานีแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบัน องค์กรเอกชน  ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มากขึ้น  แต่ยังคงหลักการของความเป็นสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา  โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับ การนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้ฟัง  แม้จะมีกระแสการแข่งขันกับรายการบันเทิงของสถานีวิทยุเพื่อการค้า  ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงนั้น วิทยุศึกษายังคงยึดมั่นในหลักการและเป็นสถานีวิทยุที่ไม่มีโฆษณา

         วารสารวิทยุศึกษาที่เคยออกอากาศรายเดือนซึ่งแจกให้ผู้สนใจ ห้องสมุด และหน่วยงานต่างๆ ต่อเนื่องกันมา ได้ยกเลิกไปในยุคนี้ แต่วิทยุศึกษายังคงติดต่อสัมพันธ์กับผู้ฟังอยู่ตลอดเวลา มีการจัดกิจกรรมพบปะผู้ฟังประจำปี เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเพื่อทราบความต้องการของผู้ฟัง นำมาพัฒนาการจัดและเผยแพร่รายการของวิทยุศึกษาให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์มากที่สุด

ยุคปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน)

+ แสดงเนื้อหา +

- ซ่อนเนื้อหา -

        สถานีวิทยุศึกษาปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชน เพื่อสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ปรับตัว รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งมีค่านิยมและพฤติกรรมที่เหมาะสม และอนุรักษ์สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม จึงเน้นการพัฒนาคุณภาพรายการและการออกอากาศ โดยเฉพาะการขยายช่องทางการรับฟัง ทั้งการรับฟังผ่านดาวเทียม และระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ฟังสามารถเลือกรับฟังรายการได้ตามความต้องการและในเวลาที่สะดวก ปัจจุบันสถานีวิทยุศึกษานอกจากกระจายเสียงด้วยระบบ FM ความถี่ 92 MHz และระบบ AM ความถี่ 1161 KHz แล้ว ยังสามารถรับฟังผ่านดาวเทียมได้ทาง ช่อง R 30 และทางอินเทอร์เน็ตที่ www.moeradiothai.net ซึ่งผู้ฟังสามารถรับฟังได้ทั้งรายการสด (Live Radio) และเลือกรับฟังรายการตามความต้องการ (Radio on Demand)
        การดำเนินงานของสถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีการวางแผน
บริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน จัดทำฐานข้อมูลผู้ฟัง ประชาสัมพันธ์รายการและสถานี ดำเนินการสำรวจ ติดตามประเมินผลการรับฟัง เพื่อนำข้อมูลวิชาการมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ การจัดรายการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์การปฏิรูปการศึกษาแก่ประชาชน การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ  การเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชน รายการที่จัดออกอากาศ  เช่น รอบรั้วเสมา เพื่อนยามเย็น คลินิกรักษ์สุขภาพ ชีวิตธรรมชาติ พูดจา ภาษาไทย วิถีไอที
เป็นต้น
         การดำเนินงานของสถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีการวางแผน
บริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน จัดทำฐานข้อมูลผู้ฟัง ประชาสัมพันธ์รายการและสถานี ดำเนินการสำรวจ ติดตามประเมินผลการรับฟัง เพื่อนำข้อมูลวิชาการมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ การจัดรายการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์การปฏิรูปการศึกษาแก่ประชาชน การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ  การเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชน รายการที่จัดออกอากาศ  เช่น รอบรั้วเสมา เพื่อนยามเย็น คลินิกรักษ์สุขภาพ ชีวิตธรรมชาติ พูดจา ภาษาไทย วิถีไอที
เป็นต้น