24-12-2563

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

   รองศาสตราจารย์ จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิจัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญที่จะเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านไม้ดอกไม้ประดับ ในการพัฒนาสายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับฐานเศรษฐกิจของประเทศ นับว่าเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญและมีบทบาทในการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการและผลิตภัณฑ์จากไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งนี้หน่วยงานแกนหลัก คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยหรือ วว. ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ พัฒนาศักยภาพการผลิตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตให้มีความได้เปรียบทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในอนาคต

   ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการนำเทคโนโลยีไม้ดอกไม้ประดับชนิดใหม่ๆ ที่ได้จากการพัฒนาสายพันธุ์ ไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ปลูกเลี้ยง สร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีหน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐและเอกชน ให้การสนับสนุนทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในอนาคต วช. พร้อมที่จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันการส่งเสริม ให้ธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป

   ขณะที่ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยหรือ วว. กล่าวว่า วว. ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การฝึกอบรมและพัฒนาความรู้สร้างนักวิจัยให้มีศักยภาพในการวิจัยไม้ดอกไม้ประดับสู่ตลาดโลก” ภายใต้การดำเนินงานโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตลิเซียนทัส เบญจมาศ และไทร” เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เข้าใจถึงบริบทในการทำวิจัย ในปัจจุบัน เพื่อให้งานวิจัยออกมามีประสิทธิภาพและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกิจกรรมภายในงานนอกจากจะมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว ยังมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ได้แก่ การจัดแสดงพรรณไม้ที่พัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิจัยของ วว. และหน่วยงานเครือข่ายที่สนับสนุน และการเข้าไปช่วยเหลือในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มของ ไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย

   อนึ่ง โครงการการพัฒนาศักยภาพการผลิตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อยในพืช 3 สกุล ได้แก่ ลิเซียสทัส (lisianthus) เบญจมาศ (Chrysanthemum) และไทร (Ficus) มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายและสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเครือข่ายคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าพัฒนากระบวนการผลิตและการใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งการส่งเสริมกระบวนการปลูกเลี้ยงและผลิตภัณฑ์จากไม้ดอกไม้ประดับต่อไป