ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากการที่สถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้จัดอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู สำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ที่มีอยู่ในระบบมากกว่า 50,000 คน เพื่อให้มีคุณสมบัติในการเข้าสู่กระบวนการขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (P License อายุ 2 ปี) และ มีสิทธิเข้าทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (B License อายุ 5 ปี) โดยหลักสูตรประกอบด้วย 7 หน่วยการเรียนรู้ หรือ 7 โมดูล (Module) นั้น เมื่อต้นปีงบประมาณ 2567 ได้มีการจัดอบรมรอบที่ 1/2567 สำหรับภาคภาษาไทย ไปจำนวน 3 โมดูล คือ หน่วยการเรียนรู้ 1 การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก สังคม และแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, หน่วยการเรียนรู้ 2 จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาให้คำปรึกษาในการวิเคราะห์และพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ และหน่วยการเรียนรู้ 6 การออกแบบและการดำเนินการเกี่ยวกับงานประกันคุณภาพการศึกษา มีผู้สมัครเข้ารับการอบรม จำนวน 1,724 คน และมีผู้ผ่านการอบรมมากกว่าร้อยละ 95 ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมได้ตอบแบบสอบถามหลังเข้ารับการอบรม ว่า มีความประทับใจต่อการอบรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบการดูแลช่วยเหลือของอาจารย์ที่ปรึกษา ที่เป็นระบบการประชุมแบบออนไลน์ Zoom Video Communications ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละหน่วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการอบรม และมีการจัดสัมมนาเพื่อสะท้อนองค์ความรู้ที่ได้รับ อีกทั้ง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อบรมในรุ่นเดียวกัน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้ในการปฏิบัติหน้าที่สอนในสถานศึกษาได้ทันที
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สถาบันคุรุพัฒนาได้กำหนดจัดอบรม รอบที่ 2/2567 ภาคภาษาไทย ครบทั้ง 7 โมดูล ได้แก่ หน่วยการเรียนรู้ 1, หน่วยการเรียนรู้ 2, หน่วยการเรียนรู้ 3 เนื้อหาวิชาที่สอน หลักสูตร ศาสตร์การสอน และเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้, หน่วยการเรียนรู้ 4 การวัด ประเมินผลการเรียนรู้ และการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน, หน่วยการเรียนรู้ 5 การใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา, หน่วยการเรียนรู้ 6 และหน่วยการเรียนรู้ 7 จิตวิญญาณความเป็นครู และจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 3,280 คน โดยเปิดให้อบรมระหว่างเดือนพฤษภาคม - ธันวาคม 2567 ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (ksp-7module.one.th)
สำหรับครูต่างชาติ ก็จะเปิดให้สมัครเข้ารับการอบรมเป็นภาคภาษาอังกฤษภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะเริ่มอบรมได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้ ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้ารับการอบรมในรอบต่อไป สำหรับภาคภาษาไทย สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ารับการอบรมได้ตลอดเวลาที่ https://kspregis.thaijobjob.com/ และคาดว่าจะดำเนินการเปิดให้ลงทะเบียนเข้าอบรมได้ภายในช่วงเดือนกันยายน หรือ ตามความเหมาะสมต่อไป
“ขอเชิญชวนครูที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ที่ได้ลงทะเบียนข้ารับการอบรมไว้ เข้าอบรม 7 โมดูลนี้ให้ครบทุกหน่วย เพราะเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีหลักการสำคัญ คือ 1.เป็นหลักสูตรอบรมฐานสมรรถนะ ประกอบด้วยความรู้ ทักษะ คุณลักษณะบุคคล 2.เนื้อหาสาระครอบคลุมมาตรฐานความรู้ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง รายละเอียดความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครู ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 3.มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เข้ารับการอบรมที่มีประสบการณ์สอนมาแล้ว 4.ระยะเวลาอบรมแต่ละมาตรฐานความรู้ไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง 5.มีวิธีการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เหมาะสม และวัดได้ตรงกับสมรรถนะที่กำหนด และ 6.กำหนดเกณฑ์การเข้าอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และผ่านการประเมินสมรรถนะไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ประกอบด้วย 7 หน่วยการเรียนรู้ หน่วยละ 60 ชั่วโมง รวม 420 ชั่วโมง และมีการสัมมนาปฏิบัติการทุกหน่วยการเรียนรู้ หน่วยละ 12 ชั่วโมง ซึ่งหากผู้เข้ารับการอบรมผ่านการอบรมทุกหน่วยก็จะมีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ต่อไป” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันคุรุพัฒนา ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (ksp-7module.one.th) เพื่อรองรับการอบรม ซึ่งสามารถรองรับผู้เข้ารับการอบรมได้เป็นจำนวนมาก มีความยืดหยุ่นในด้านระยะเวลา และความสะดวกในการอบรม ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการอบรม ให้สามารถเข้าอบรมได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ และยังมีระบบการติดตามการอบรมโดยอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะดูแลผู้เข้ารับการอบรมในทุกขั้นตอนทั้งภาคทฤษฎี และกิจกรรมสัมมนาในสัดส่วน ผู้ดูแล 1 ต่อผู้เข้ารับการอบรม 30 คน เพื่อเสริมสร้างฐานสมรรถนะมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู ให้มีคุณภาพตามนโยบาย (ครูดี) เรียนดี มีความสุข ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.).