15-07-2567

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พอใจ ความสำเร็จสถานีแก้หนี้ครูฯ ภาคกลาง ช่วยสมาชิกเกือบแสนคน

   นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน "สพฐ.สัญจร รวมพลังแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร" จุดที่ 4 ภาคกลาง ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำทีม สพฐ. ร่วมกับ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด และ ดร.นรินทร์ ชำนาญดู ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี พร้อมผู้เข้าร่วมงานจากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้เกี่ยวข้อง และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 1 และ 2 ทั้ง 9 จังหวัด 21 เขตพื้นที่การศึกษา มีครูและบุคลากรในสังกัดกว่า 73,787 คน รวมถึงผู้ลงทะเบียนในระบบแก้หนี้ออนไลน์ของ สพฐ. และผู้มีเงินเดือนเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน และผู้สนใจ เข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน รวมทั้งผู้ชมที่อยู่ในระบบออนไลน์ Facebook live : ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ประกอบด้วยสถานีแก้หนี้ระดับ สพท. ทั่วประเทศ จำนวน 245 แห่ง สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้ที่สนใจร่วมรับชมจำนวนกว่า 3,400 ราย

   นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ได้เน้นย้ำนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนโยบายและมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลดภาระครูและบุคลากร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครูและบุคลากร สามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้เห็นผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง สามารถใช้ทรัพยากร เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาหนี้สินจะทำให้ครูและบุคลากรมีสภาพคล่องทางการเงิน มีขวัญ กำลังใจ และมีสมาธิจดจ่อในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียน รวมทั้งสามารถวางแผนพัฒนาตนเองได้อย่างดี ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เห็นผล โดยการแก้ปัญหาหนี้สินจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมไปพร้อมกัน ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างตำแหน่งต่างๆ กว่า 9 แสนคน รวมถึงครอบครัวของครูและบุคลากรดังกล่าวหลายล้านคน มีสหกรณ์เป็นที่พึ่งทั้งฝากออม และกู้เพื่อการลงทุน และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดูแลตนเองและครอบครัว ส่งบุตรหลานเล่าเรียน ตอบแทนพระคุณและเลี้ยงดูพ่อแม่ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงจรชีวิตครูและบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเรา ดังนั้น การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ ความร่วมมือของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลังจากการพูดคุยเจรจาที่คุรุสภา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีครูและบุคลากรได้รับประโยชน์มากกว่า 6 แสนคน ซึ่งมีคุณค่าและสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของข้าราชการครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการในระยะยาว 

  
 


   สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร การดำเนินการทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ เป้าหมายสำคัญคือ การปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2551 รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ ให้ครูและบุคลากรมีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30   รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการบริหารการเงิน อาจเกิดจากตนเองหรือเพราะความมีน้ำใจของคนไทยในการค้ำประกัน ต้องถูกฟ้อง ถูกยึดบ้าน ยึดทรัพย์สินและที่ดิน เหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่ใช่ความผิดรุนแรงเราจึงห่วงใยและจะแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อให้ครูและบุคลากรใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้และคุณธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างเสริมสมรรถนะนักเรียนของเราทุกคน ให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะด้านการเงิน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

   นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ขอขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มาเป็นประธาน สพฐ. สัญจร ในครั้งนี้ และที่สำคัญยังเป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมา ยังมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับ สพฐ. นำโดย ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำนโยบายสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ร่วมกับสถานีแก้หนี้ครู สพฐ. ณ จุดภาคกลางในครั้งนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรของ สพฐ. ทั้งบุคลากรที่อยู่ในระบบราชการและข้าราชการบำนาญ ที่ได้ร่วมกับสถานีแก้หนี้ สพม.พระนครศรีอยุธยา และ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1-2 เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ได้ให้ความสำคัญ กำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างความสำเร็จหนึ่งของสถานีแก้หนี้ สพท. ที่สามารถร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสระบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้ถึงร้อยละ 4.50 - 4.75 และยังมีระบบการป้องกันไม่ให้เกิดการกลับมาเป็นหนี้ซ้ำเกินตัว แนวทางการหักค่างวดแบบอัตราก้าวหน้าที่แปรผันตามอัตราเงินเดือนที่สูงขึ้น รวมทั้งการหักเงินเดือนที่ต้องมีเงินเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นอกจากนี้ ในส่วนผลการดำเนินงานภาพรวมของ สพฐ. ที่ผ่านมา ณ วันที่ 14  กรกฎาคม 2567 ในเรื่องการขับเคลื่อนฯ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามัญเหลือไม่เกินร้อยละ 4.75 จำนวน 12 แห่ง และยังมีส่วนที่ทยอยลดดอกเบี้ยต่ำลงอีก 43 แห่ง มีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการช่วยเหลือ 638,947 คน สามารถแก้ไขได้สำเร็จแล้ว 810 คน มีมูลค่าหนี้ที่แก้ไขได้กว่า 2,430 ล้านบาท ที่สำคัญการสัญจรลงพื้นที่แต่ละจุดยังสามารถสร้างความมั่นใจในการดำเนินงานสถานีแก้หนี้ สพท. ให้มีแนวทางที่ชัดเจน และดำเนินการประสานเจรจา ช่วยเหลือครูและบุคลากร รวมทั้งยังได้แก้ไขกรณีตัวอย่างที่มีความวิกฤติฉุกเฉินได้จำนวนมาก