พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้องภายใต้หัวข้อ "พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล" ณ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีศึกษา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 26 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เสร็จสิ้นลงอย่างเป็นทางการ และบรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วน ตลอดระยะเวลาการประชุม ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวกแปด (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวชีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย) ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต ภายใต้หัวข้อ "การพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม การผลิตและการบริการ รวมถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ
“ในการประชุมครั้งนี้เราได้นำส่วนของ Digital เข้ามาใช้ตลอดการประชุม โดยมีจอภาพแปลภาษาแบบ Real Time เพิ่มเติมจากที่ใช้ล่ามแปลภาษา ซึ่งชาวต่างชาติก็ประทับใจมาก โดยมิตินี้เราเริ่มต้นทำในประเทศไทยมาก่อนแล้ว ตามที่เคยได้ให้นโยบายไว้ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ เช่นที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่นักเรียนบกพร่องทางการได้ยิน ก็ใช้สื่อตัวนี้เข้ามาช่วย ขณะที่ครูสอนเป็นภาษามือจะพูดไปด้วย จอภาพจะมีข้อความขึ้นอธิบายตามตลอดเวลา ทำให้นักเรียนเข้าใจได้มากขึ้นและวันนี้เราก็ได้นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ในตลอดการประชุมด้วย” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
ด้าน H.E. Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงถึงภาวะผู้นำของประเทศไทยในด้านการศึกษาอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้ทำให้มาตรฐานของการจัดประชุมระดับอาเซียนสูงขึ้นเป็น High Standard
ทั้งนี้รองเลขาธิการอาเซียน ได้ขอบคุณประเทศคู่เจรจาทุกประเทศที่ได้สนับสนุนโครงการและทุนการศึกษาในอาเซียน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือทางการศึกษาจะเข้มแข็งและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ตามที่เราได้ร่วมกันดำเนินการการพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล และมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อปวงชน โดยการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้งหมด 3 การประชุมหลัก ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษาเพื่อร่วมหารือการพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล พร้อมทั้ง พิจารณาเอกสารสำคัญ เช่น "ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-ซีมีโอว่าด้วยพื้นที่ส่วนกลางในด้านการอุดมศึกษาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้", "ร่างแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาค การเข้าถึงและสภาพแวดล้อม: การพัฒนาการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในบริบทของเด็กปฐมวัยในอาเซียน", "คู่มือแนวทางร่วมของกรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามเกี่ยวกับรูปแบบใหม่ในการจัดการเรียนการสอนในระดับการอุดมศึกษา" ในระหว่างการประชุม ประเทศไทยได้เสนอ "แถลงการณ์ร่วมบุรีรัมย์" "แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม" และ "แถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีศึกษาเอเชียตะวันออก" ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน ประเทศสมาชิกบวกสาม และสมาชิกบวกแปด โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา รวมถึงการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนในการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลในระบบการศึกษา การส่งเสริมการศึกษาแก่กลุ่มเปราะบาง และการพัฒนาทักษะ ICT การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การรู้เท่าทันสื่อและจริยธรรมด้าน AI การพัฒนาทักษะเด็กและเยาวชน การเคลื่อนย้ายนักเรียน การให้ทุนการศึกษาเพื่อการแลกเปลี่ยน การรักษาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และการดูแลสุขภาพครูและนักเรียน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคและโลก
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือด้านการศึกษาของอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในอนาคต โดยมุ่งเน้นการพลิกโฉมระบบการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล การอ่านออกเขียนได้ จริยธรรมเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กและเยาวชน การขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคจากทุกภาคส่วน และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ประเทศไทยยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษาและผลักดันนโยบายการศึกษาไทยไปสู่อาเซียนและประเทศคู่เจรจา เช่น นโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมพลังพลเมืองให้เรียนรู้อย่างมีความสุขและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา การสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม การส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ที่มุ่งพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 14 จะจัดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าในปี พ.ศ. 2569 โดยสาธารณรัฐสิงคโปร์
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณเลขาธิการอาเซียนที่ให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมครั้งนี้ ขอบคุณนักแสดงทุกคนที่มาร่วมแสดงศักยภาพของเด็กไทยให้ชาวโลกได้เห็น ขอบคุณชาวอาชีวศึกษาที่นำเด็ก ๆ มาโชว์ฝีมือการทำอาหารเลี้ยงแขกของประเทศไทยตลอดงาน ขอบคุณบุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่รวมน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และขอบคุณชาวไทยทั้งประเทศที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีในจนทำให้แขกผู้มาเยือนของเราประทับใจตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ประเทศไทย จนกลับไปอย่างสุดอบอบอุ่น