25-09-2567

อาชีวะชู Essential Skills Set นำร่องสถานศึกษา 10 แห่ง สร้างโมเดลทฤษฎีเชื่อมโยงการเรียนการสอน

   นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอและถอดบทเรียนโครงการการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย โดย นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน โดยมีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา นำร่อง เข้าร่วม ณ ห้องพีโอนี่ อาคารล็อบบี้ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น (แจ้งวัฒนะ)

   เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า การประชุมนําเสนอและถอดบทเรียนโครงการการนําร่องชุดทักษะที่จําเป็น (Essential Skills Set) สําหรับเด็กและเยาวชนไทย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็ก และเยาวชนไทย ให้มีทักษะที่จําเป็นสําหรับการดํารงชีวิตและการทํางานในยุคดิจิทัล สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนอาชีวศึกษา มุ่งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยคาดหวังว่าผู้เรียนในยุคดิจิทัลต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในด้านต่างๆ สิ่งสำคัญต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และมี 3 ทักษะสำคัญ 1. ทักษะทางวิชาการ ความรู้ที่ได้จากทฤษฎี 2. ทักษะวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การโรงแรม ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ในรูปแบบต่างๆ และ 3. ทักษะวิชาชีวิต การคิดเชิงบวก มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา หรืออาชีวะอาสาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ Essential Skills Set อันจะเป็นโมเดลและทฤษฎีที่สามารถเชื่อมโยงในการเรียนการสอน ยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษา รวมถึงการวิเคราะห์แก้ไขปัญหา การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และกรอบความคิด เป็นผู้เรียนอาชีวะที่สมบูรณ์แบบ และดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคง

   การนำเสนอและถอดบทเรียน โครงการฯ Essential Skills Set  ซึ่งมีสถานศึกษานำร่อง สังกัด สอศ. จำนวน 10 แห่ง จะเป็นเวทีสําคัญเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ เป็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการบูรณาการทักษะที่จําเป็นเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถเผชิญกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมั่นใจ และในวันนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรหลากหลายภาคส่วน ทั้งจากสภาพัฒน์ฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาร่วมเสวนาและถอดบทเรียน

   นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ 4 เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานจากการบูรณาการชุดทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา พร้อมทั้งถอดบทเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการขยายผลและเป็นต้นแบบให้กับสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ  โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ 1.ผู้เรียนอาชีวศึกษา มีชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดแรงงาน 2.สถานศึกษาอาชีวศึกษา มีแนวทาง วิธีการ กระบวนการในการจัดการเรียนการสอน มีสื่อการเรียนการสอน รูปแบบ(Essential Skills Set) เพื่อเสริมสร้างพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน 3. มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาเป็นต้นแบบและพร้อมขยายผลการนำร่องโครงการ ไปยังสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ โดยมีสถานศึกษานำร่อง 10 แห่ง ดังนี้ 1.วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน 2.วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี 3.วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ 4.วิทยาลัยเทคนิคแพร่ 5.วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย 6.วิทยาลัยการอาชีพไชยา 7.วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี 8.วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย 9.วิทยาลัยเทคนิคนครโคราช และ10.วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์