นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาแถลงข่าวชี้แจงอย่างเป็นทางการ หลังมีการแชร์ภาพและข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการครูทั่วประเทศ ซึ่งมีความสับสนว่ากระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งกายสำหรับวันจันทร์ อังคาร และพุธ ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงศึกษาธิการได้ชี้แจงว่า “ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีคำสั่งใหม่ใด ๆ เกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการครูหรือบุคลากรในสังกัด ทุกคนยังคงสามารถแต่งกายตามแนวทางที่เคยขอความร่วมมือไว้ก่อนหน้านี้ คือ แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ หรือเสื้อผ้าไทยสีเหลืองประดับเข็มที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แทนการแต่งกายปกติในทุกวันจันจันทร์ที่เป็นวันทำการ รวมทั้งในวันหรือในโอกาสอื่นที่เหมาะสม และแต่งกายเครื่องแบบสีกากี หรือเครื่องแบบปฏิบัติงานของหน่วยในทุกวันอังคารที่เป็นวันทำการ”
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ได้ขอความร่วมมือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายในวันจันทร์ อังคาร พุธ ไปยังหน่วยงานราชการในพื้นที่ รวมถึงสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการหารือเพื่อให้ส่วนภูมิภาคมีการแต่งกายไปในแนวทางเดียวกันจึงยกร่างเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ได้มีการพิจารณาแต่อย่างใด ภาพและข้อมูลที่ถูกแชร์ออกไปก่อนหน้านี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการขอยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนระเบียบแต่งกายใหม่ใด ๆ ในขณะนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นกับครู ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัด โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีบริบทการทำงานและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแต่งกายแต่ละวันในภูมิภาคขอให้เป็นไปตามความเหมาะสม แล้วแต่การพิจารณาว่าจะใส่ตามจังหวัดหรือกระทรวงศึกษาธิการก็ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามการขอความร่วมมือโดยไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างใด
นายสิริพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “กระทรวงศึกษาธิการขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการก่อนแชร์ต่อ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนและความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เลือกแชร์สื่อจากเพจของหน่วยงานที่เป็นทางการเพราะมีโลโก้ชัดเจน จะได้มั่นใจว่าเป็นข้อมูลจริงที่เชื่อถือได้ไม่ใช่ข่าวปลอม และไม่สร้างความสับสนแก่สังคม”