ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 45/2567 โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต รวมถึงที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ประเด็นที่ได้หารือในวันนี้ เรื่องแรกคือ จากกรณีที่นักเรียนในจังหวัดระยองรับประทานอาหารที่โรงเรียนแล้วเกิดท้องเสียจำนวนมาก ตนได้กำชับไปยังศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. และสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน ให้ออกหนังสือแจ้งมาตรการดูแลความสะอาดของอาหารและน้ำที่จะนำมาทำอาหารให้นักเรียน รวมถึงโรงเรียนที่มีผู้ประกอบการมาขายอาหารในโรงเรียนด้วย โดยกำชับให้ทุกโรงเรียนตรวจสอบคุณภาพอาหาร ดูแลความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ ตั้งแต่อาหาร น้ำดื่ม เครื่องทำน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง ซึ่งอาจเป็นตัวนำเชื้อโรคมาสู่นักเรียนได้ เพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะตามหลักโภชนาการในทุกมื้อ ต่อมาคือเรื่องของนโยบายรัฐบาล Thailand Zero Drop Out ซึ่งเราได้ทำเป็นโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” วันนี้ได้ให้สำนักนโยบายและแผนฯ นำข้อมูลนักเรียนตกหล่นจากระบบการศึกษาที่มีอยู่กว่า 6.9 แสนคน ทั้งที่ค้นพบแล้วและที่ยังต้องติดตามต่อไป แจ้งไปยังเขตพื้นที่ทุกแห่งว่าเขตใดมีนักเรียนตกหล่นจำนวนเท่าไหร่ และให้วางแผนการออกติดตามให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หากเด็กไม่ประสงค์กลับมาเรียน ก็ให้นำการเรียนไปให้ที่บ้านหรือที่อยู่อาศัย ตามบริบทและความเหมาะสม พร้อมกันนี้ ได้กำชับเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของรมว.ศธ. ลงสู่ห้องเรียน โดยผอ.เขตจะต้องไปติดตาม กำกับ ดูแล รวมถึงศึกษานิเทศก์ ต้องเข้าไปช่วยขับเคลื่อนการนำนโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนด้วย
“สุดท้ายคือเรื่องการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่ 15,309 โรงเรียนทั่วประเทศ และนักเรียนกว่า 9 แสนคน โดยสำนักนโยบายและแผนฯ จะทำแผนการบริหารโดยจัดเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่เล็กสุด จนถึงขนาดเล็กทั่วไป รวมถึงจะเร่งประสานจัดทำงบสนับสนุนรายโรงเรียน เพื่อเป็นงบพื้นฐานให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียน 1-60 คน จำนวน 6,952 โรงเรียน เนื่องจากปัจจุบันการจัดงบประมาณแบบรายหัว ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้งบประมาณน้อย บริหารจัดการลำบาก ดังนั้นจึงต้องมีงบพื้นฐานเข้ามาช่วย ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอ ครม. ในช่วงต้นปีหน้า และจัดสรรงบประมาณปี 2569 เป็นงบพื้นฐานให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น ให้โรงเรียนคำนวณมาว่า จำเป็นต้องใช้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานเท่าไหร่ เราจะให้งบไปก่อนแล้ว Top Up เป็นเงินอุดหนุนรายหัวลงไป เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้น” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว