14-11-2567

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำสร้างความร่วมมือในพื้นที่​ "ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ" ปั้นคนไทย "ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ"

   นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาของคนไทยทุกช่วงวัย ร่วมด้วย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ผู้บริหารระดับสูง โดยมีนายปิยะ​ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ให้การต้อนรับ และมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ประมาณ 330 คน ณ โรงแรมเทพนคร (อัลวาเรซ) อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 

   นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า กลไกในการทำงานในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัดแล้ว ยังมีสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เสนาธิการในการวางแผนและขับเคลื่อนการศึกษาในกลุ่มจังหวัดและจังหวัด โดยอาศัยกลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ในการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น ๆ  ซึ่งกลไกนี้ถือเป็นจุดแข็งของกระทรวงศึกษาธิการ ในการประสานการบริหารงานระหว่างส่วนราชการ และยังสอดคล้องกับการทำงานในภูมิภาค 

   สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ​ ขอให้ส่วนราชการในสังกัด และองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ​ นำนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการไปเป็นกรอบแนวทางในการจัดการศึกษา และดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดทำ Action Plan
ให้สอดคล้องกับนโยบาย ซึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย ไม่จำเป็นว่าทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการทุกนโยบาย ให้ดำเนินการเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง​ และให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 
“ผมเชื่อมั่นว่า สำนักงานศึกษาธิการภาคทั้ง 18 ภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จะเป็นกำลังสำคัญ และเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนภารกิจที่ตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และตอบสนองต่อเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด และจังหวัดได้อย่างแน่นอน” รมช. ศธ. กล่าว 

   นายสุรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีข้อสั่งการและแนวปฏิบัติ​ โดย​ให้นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการปฏิปฏิปติอย่างเป็นรูปธรรม (Action) ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเคร่งครัด ตลอดจนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ​ ร่วมกันปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด​ ส่งเสริมการอ่านและการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นกระบวนการ โดยผู้บริหารและครูต้องเป็นต้นแบบ ส่วนการลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยมให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม โดยให้ดำเนินการอย่างเรียบง่าย และประหยัด ยึดบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะแก่ศึกษาธิการจังหวัด เพื่อให้สามารถหาแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเรื่องเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา รมว.ศธ. ได้สั่งการให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ที่มีสถานศึกษาในสังกัดในพื้นที่ โดยต้องพยายามนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้หมด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ทุกท่านจะได้ช่วยกันระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ต่อไป  

   นายสุเทพ​ แก่งสัน​เ​ที​ยะ​ กล่าว​ว่า​ โครงการ “ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่” ประจำปีงบประมาณ 2568 ถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการในการขยายโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยทุกคน ด้วยการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเชิงลึกแก่ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้สามารถกำหนดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นำไปสู่กี่สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้และเตรียมพร้อมสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทย