นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ฝากข้อแนะนำถึงครูและสถานศึกษาในสังกัด ในประเด็นการลงโทษนักเรียนเรื่องทรงผมเกินกว่าเหตุ เน้นย้ำการปฏิบัติด้วยเหตุผลอย่างสร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดความอับอายจนเกิดเป็นปมในใจกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวเองจนส่งผลให้ไม่มีความสุขในการมาเรียน
โฆษก ศธ. กล่าวว่า ระเบียบทรงผมของนักเรียนไทยเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะสะท้อนถึงค่านิยมและวัฒนธรรมการศึกษาและมีผลกระทบภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษา ซึ่งเกิดเป็นหลายมุมมองถกเถียงในสังคมจนถอดบทเรียนพิจารณานำไปสู่การยกเลิกระเบียบ “ทรงผมนักเรียน” ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา แต่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นข่าวการลงโทษเรื่องทรงผมนักเรียนอย่างไม่เหมาะสมอยู่
ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการเองก็เคารพความแตกต่าง เรียกได้ว่าเป็นโอกาสปฏิรูปการศึกษาให้เกิดการปฏิบัติที่ยืดหยุ่นในยุคใหม่ ลดความเข้มงวดตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อย่างเรื่องการปรับปรุงระเบียบให้สิทธินักเรียนในการแสดงออกเรื่องแต่งกายหรือไว้ทรงผมที่ไม่ละเมิดคุณค่าหรือกฎระเบียบของสถาบัน และการปฏิบัติต่อผู้เรียนต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ไม่ให้การลงโทษใดเกินกว่าความเหมาะสม จนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจหรือความเชื่อมั่นในตัวเอง
"ผมขอฝากไปถึงครูและสถานศึกษาในสังกัดช่วยกันปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป เน้นการพัฒนาทักษะชีวิตและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าระเบียบทรงผมหรือการแต่งกาย เราเข้าใจถึงภาวะกดดันแต่ต้องมองตามความเหมาะสมให้ครบทุกมิติ ระมัดระวังการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ซึ่ง ศธ.สนับสนุนให้ใช้แนวทางเชิงบวกแก้ไขปัญหาโดยไม่สร้างความอับอายต่อเด็ก และขอเป็นกำลังใจให้ครูผู้ทุ่มเททุกคนที่ตั้งใจสอนสิ่งดีกับลูกศิษย์ ขอให้เชื่อว่าความมุ่งมั่นที่ทำอยู่จะเป็นพลังส่งผู้เรียนถึงฝั่งด้วยความภาคภูมิใจ" นายสิริพงศ์ กล่าว
สุดท้ายนี้กระทรวงศึกษาธิการขอย้ำว่าการดำเนินการกับนักเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบทรงผม ควรมีความห่วงใยและเข้าใจเหตุผลนักเรียน รวมถึงเป็นไปตามแนวทางการลงโทษของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มี 4 สถานเท่านั้น คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทําทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทํากิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะผลของการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่น่าจดจำในสถานศึกษาจะทำให้เด็กของเรา “เรียนดี มีความสุข” สนองนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่วางเป็นกรอบแนวทางเพื่อให้การศึกษามุ่งไปสู่การพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ และให้ผู้เรียนของเราเติบโตในรูปแบบที่เหมาะสมและมีคุณค่าต่อสังคม