04-12-2567

กระทรวงวัฒนธรรม น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 5 ธันวาคม จัดพิธีเจริญ พระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล พร้อมจัดกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

   นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มีนโยบายเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์และส่งเสริมการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเนื่องในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติ ตั้งแต่พ.ศ.2489 ตราบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 พระองค์ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมและทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยและพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญรุ่งเรือง

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.โดยหน่วยงานในสังกัดจึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้าย วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติโดยในส่วนกลาง ณ กระทรวงวัฒนธรรม จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะและนิทรรศการศาสตร์พระราชาปรัชญาแห่งแผ่นดินเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจและให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกแห่งจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ จัดพิธีทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร การปฏิบัติธรรม การเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในรูปแบบออนไลน์ กิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ กิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

   นอกจากนี้ กรมการศาสนา(ศน.)ร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์การทางศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดูและซิกข์และภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเชิญชวนผู้นำศาสนา ภาคเอกชนและพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศร่วมกันบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศลและวธ.โดยกรมการศาสนาร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศ จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 5 ธันวาคมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในส่วนกลางนั้นกรมการศาสนาร่วมกับวัดบวรนิเวศวิหาร จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติถวายพระราชกุศลโดยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และสดับปกรณ์ (พิธีการทอดผ้าบังสุกุล) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 และส่วนภูมิภาคโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เช่นเดียวกับส่วนกลาง 

   ขณะเดียวกันกรมศิลปากร(ศก.)โดยหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร จัดโครงการรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ที่ทรงเป็นมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี และจัดกิจกรรมการบรรยายพร้อมการแสดงดนตรี เรื่อง“สืบสานบทเพลงพระราชนิพนธ์ เล่าขานผ่านดนตรีแจ๊ส” ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 13.00 -16.30 น. ณ ห้องจัดแสดง ชั้น 2 หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายประทักษ์ ใฝ่ศุภการ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีแจ๊ส ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  และนายดริน พันธุมโกมล รองคณบดีฝ่ายศึกษาวิชาการและวิจัย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนออนไลน์ด้วยการสแกน QR-Code บนโปสเตอร์ หรือลงทะเบียนผ่านลิงก์ https://forms.gle/dFTMdGSEteBBCx2t9 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โทร.0 2280 9856 (ในวันและเวลาราชการ) นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้ศึกษา เรียนรู้ รวมถึงจัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั่วประเทศ

   นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์เครือข่าย รวมใจรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอัครศิลปินในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ หออัครศิลปิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะแขนงต่างๆของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา“อัครศิลปิน”แปลว่า“ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือ 
ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน”แด่พระองค์ท่าน โดยปีพ.ศ. 2567 เป็นวาระครบรอบ 38 ปีของการถวายพระราชสมัญญา อัครศิลปิน  พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในด้านศิลปะหลากหลายแขนง ทรงให้การสนับสนุน ส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์ รวมทั้งทรงอุปถัมภ์งานศิลปะของไทย อันเป็นรากฐานของงานศิลปะทุกสาขา ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น 

   ทั้งนี้ กิจกรรมสานสัมพันธ์เครือข่าย รวมใจรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอัครศิลปินมีพิธีถวายความเคารพและวางพวงมาลัยสักการะพระราชลัญจกรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การแสดงศิลปินแห่งชาติผสานศิลป์ ถวายราชสดุดีโดยศิลปินแห่งชาติ การขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์โดยศิลปินแห่งชาติ การแสดงดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ นิทรรศการน้อมรำลึกอัครศิลปินและการสาธิตทางวัฒนธรรม ได้แก่  ข้าวน้ำพริกปลาทู ส้มตำผักพื้นบ้าน กาละแมรวงข้าวเม็ดบัว ( 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ปี 2567 จังหวัดปทุมธานี) ข้าวเหนียวเปียกลำไยมะพร้าวอ่อน ขนมครก และกิจกรรมการพิมพ์ลายบนกระเป๋าผ้า พร้อมกันนี้หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เผยแพร่ภาพยนตร์พระราชกรณียกิจเมื่อครั้งเสด็จฯทอดพระเนตรภาพยนตร์ในอดีตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยเผยแพร่ในวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ทางช่องยูทูป Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์) และเพจเฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive

   “วธ.โดยหน่วยงานในสังกัดจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยและร่วมสืบสานพระราชปณิธานในการทำความดี มีจิตอาสา เสียสละ  ช่วยเหลือกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี มุ่งสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและตามรอยเบื้องพระยุคลบาท“อัครศิลปิน”ในการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว