พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการโครงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ระหว่าง สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเมนท์แห่งประเทศไทย โดยมี นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทย นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายสื่อสารองค์กร จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และนายธาดา เศวตศิลา ประธานมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเมนท์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม
พลตํารวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีความมุ่งหมายให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาศักยภาพคน เพราะการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจะทำให้มนุษย์เข้าสู่การพัฒนาและเติมเต็มศักยภาพสูงสุดในทุกด้าน การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาให้นิสิตนักศึกษาครู ครู และบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) สามารถนำความรู้ความเข้าใจไปจัดกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้เกิดเป็นทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน ดังนั้น การสร้างความฉลาดรู้ทางการเงิน นับเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งเป็นหลักการภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นแนวคิดทางการศึกษาที่มีความสำคัญในการปลูกฝัง และให้ความรู้ด้านการเงินกับผู้เรียน ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ชั้นเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพราะทักษะด้านการเงินนี้จะติดตัวผู้เรียนตลอดไป และไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด หรือพบเจอกับสถานการณ์ใด ก็สามารถนำทักษะและความรู้เท่าทันทางการเงินนี้มาใช้ได้ตลอดชีวิต นับเป็นสมรรถนะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก และสังคม ในปัจจุบันและอนาคต “ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ต้องขอบคุณ 3 องค์กรหลักที่เห็นถึงความสำคัญและเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย กับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาขีดความสามารถของครูและบุคลากร ทางการศึกษาให้มีความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งผลลัพธ์ต่อผู้เรียน โดยการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ทำให้สามารถตัดสินใจด้านทรัพยากรการเงินได้ อย่างถูกต้องและมีความรอบรู้ นับเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
ด้านผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยสถาบันคุรุพัฒนา ได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัยและค้นคว้าแนวทางในการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy การพัฒนานิสิตนักศึกษาครู ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน และสามารถนำไปถ่ายทอดต่อยังผู้เรียนจนเกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในชุมชนทางการศึกษานั้น ๆโดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้ง ครูและบุคลากรทางการศึกษา นิสิตนักศึกษาครู และคณาจารย์ในสถาบันผลิตครู ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ “สำหรับการดำเนินงานในระยะเริ่มแรกนี้ จะมุ้งเน้นไปการพัฒนาสมรรถนะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเฉพาะการพัฒนานักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ethics in Professional Learning Community : E-PLC) ให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจและมีสมรรถนะในเรื่องการเงิน คณิตศาสตร์ การวางแผน และความสามารถในด้านการวิเคราะห์ให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถจัดการเรื่องการเงินทั้งในชีวิตประจำวันและอนาคตได้ นอกจากนี้ คุรุสภายังให้ความสำคัญกับผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพครู ซึ่งจะส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ความฉลาดรู้ทางการเงิน เพื่อให้มีเจตคติและพฤติกรรมทางการเงิน ภายใต้บริบททางการเงินในระดับบุคคลที่เหมาะสมและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปจัดกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ โดยมุ่งหวังว่าจะสร้างครูยุคใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถที่ก้าวทันการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว