05-03-2568

วธ. ผนึกกำลัง กสทช. และภาคีเครือข่าย เปิดค่าย Youth Culture Media Creator สร้างภูมิคุ้มกันรู้ทันสื่อ พร้อมปั้น “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่สังคม

   นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Youth Culture Media Creator เยาวชนสร้างสรรค์สื่อวัฒนธรรม กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งมีเด็กและเยาวชน ครู อาจารย์ และข้าราชการสังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก จาก 24 จังหวัด จำนวน 96 คน เข้าร่วมการอบรมฯ ระหว่างวันที่ 4 - 6 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง
   ปลัด วธ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต พฤติกรรมและค่านิยมของคนในสังคม เกิดภัยคุกคามและเล่ห์เหลี่ยมและกลโกงออนไลน์ขึ้นมากมาย ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงวัฒนธรรม จึงร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตและเครือข่ายเยาวชน Seed Thailand จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Youth Culture Media Creator เยาวชนสร้างสรรค์สื่อวัฒนธรรมใน 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 1 จัดที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก มีเด็กและเยาวชน ครู อาจารย์ และข้าราชการสังกัดสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก จาก 24 จังหวัด จำนวน 96 คน เข้าร่วม 


   ปลัด วธ. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของ วธ.จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ วธ. ในการเสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม โดยใช้กลยุทธ์บ่มเพาะคุณลักษณะของความสร้างสรรค์และต้นทุนชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน วธ.จึงเล็งเห็นว่าเด็กและเยาวชนคือเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่มีความพร้อมในการเติบโตและผลิดอกออกผลสู่สังคม รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาเครือข่ายทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกับเด็กและเยาวชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศและให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับสื่อที่นำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงใช้วิจารณญาณรับสื่อ ลดความเสี่ยงและป้องกันตนเองจากผลกระทบของสื่อสามารถเข้าใจและใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนเสริมทักษะการผลิตสื่อสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเป็นนักสร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาสื่อ (Content Creator) อย่างมืออาชีพ ที่สำคัญยังได้เรียนรู้การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจัดการข้อมูล วิเคราะห์และประมวลผล รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การอบรมเชิงปฏิบัติการฯ จะจัดขึ้น 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 1 กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก 24 จังหวัด ครั้งที่ 2 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ 15 จังหวัด ครั้งที่ 3 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐ จังหวัด และครั้งที่ 4 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด หลักสูตรและเนื้อการจัดอบรมฯ เพื่อถ่ายทอดความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันในประเด็นต่างๆ อาทิ รู้เท่าทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ การรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมและกลโกงออนไลน์ การรู้เท่าทันข่าวปลอม การเรียนรู้ สร้างสื่อ สร้างสรรค์สังคม กระบวนการและทักษะการผลิตสื่อสร้างสรรค์อย่างมืออาชีพ กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ การเรียนรูทักษะการใช้ AI อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เรื่องเพศ ภาษา ความรุนแรงและการให้ค่าความเป็นมนุษย์ เป็นต้น
“เชื่อว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้จะสร้างและขยายเครือข่ายทางวัฒนธรรมในการเฝ้าระวังและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในทุกมิติ ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์ของผลิดอกออกผลแห่งการรู้เท่าทันสื่อ สร้างบทบาทนําในการพาเด็กและเยาวชน ส่งต่อผลลัพธ์ที่ดีแก่ผู้อื่นอย่างยั่งยืน” นายประสพ กล่าว