นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งลงนามโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งส่งผลให้ สกร.มีมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ที่ยึดหลักการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คำนึงถึงความเท่าเทียม และความเสมอภาคของการเข้าถึงการศึกษา นำไปใช้เป็นหลักสำหรับการเทียบเคียงการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษาให้แก่สถานศึกษาในสังกัด ซึ่งมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัด สกร. แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1.มาตรฐานการศึกษาสำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.มาตรฐานการศึกษาสำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3.มาตรฐานการศึกษาสำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำมาตรฐานการศึกษา แต่ละประเภทไปกำหนดเป็นมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับหน้าที่ และอำนาจของสถานศึกษา และสามารถพัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาขึ้นเพิ่มเติม จากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาแต่ละประเภทได้
อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน เป็นหนึ่งในจุดเน้นการดำเนินงานเร่งด่วนที่ สกร. ได้ประกาศเป็นจุดเน้นการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยภายในเดือนมีนาคมนี้ สกร.จะดำเนินการจัดทำแนวทางและคู่มือที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาและการนำมาตรฐานการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษา และจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงและพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายในหน่วยงานและสถานศึกษาโดยคำนึงถึงบริบทและความแตกต่างกันของสถานศึกษา เพื่อให้การดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ
“ ขอให้ทุกคนตระหนักร่วมกัน ว่า ‘การขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ไม่ได้เป็นหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ที่ต้องกำหนดไว้ร่วมกันนำไปสู่การดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แล้วนำผลการดำเนินงานของแต่ละบุคคล ในแต่ละส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน เปรียบเสมือนการร่วมกันต่อภาพจิ๊กซอว์ให้เป็นภาพใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นภาพกว้างในการดำเนินงานของสถานศึกษา และเพื่อให้มีผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลสำหรับนำไปใช้ประกอบในการประเมินคุณภาพการศึกษา หรือสะท้อนภาพการดำเนินงานของสถานศึกษา’ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานและเพื่อให้มีข้อมูลสำหรับ สกร.นำไปใช้ในการวางแผนส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาที่มุ่งประสิทธิภาพ ในแต่ละปีงบประมาณ สกร.จะจัดให้มีการติดตามผล และจะกำหนดให้มีโครงการ หรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของสถานศึกษา รวมถึงนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วย ” นายธนากร กล่าว.