นายยศพล วิศณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงกรณีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 ว่า การสอบคัดเลือกดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่เป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ซึ่งกระบวนการสอบคัดเลือกไม่ได้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาดำเนินการ โดยการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น เป็นตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 จึงทำให้มีตำแหน่งว่างถึง 33 ตำแหน่ง และใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่ อ.ก.ค.ศ. สอศ.ประกาศไว้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การคัดเลือกมาตรฐานตำแหน่งเดิมก่อนที่ทาง ก.ค.ศ.จะมีมติออกหลักเกณฑ์มาตรฐานตำแหน่งการคัดเลือกใหม่ โดยมาตรฐานตำแหน่งใหม่นั้นกำหนดให้การเติบโตจากสายงานรองผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวะเป็นผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะได้ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป แต่ สอศ.ได้เตรียมกระบวนการจัดสอบคัดเลือกมาแล้วจึงทำเรื่องสอบถามไปยัง ก.ค.ศ.ว่า หากขอให้หลักเกณฑ์การคัดเลือกด้วยมาตรฐานตำแหน่งเดิมสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่ง ก.ค.ศ.ตอบกลับมาว่า สามารถใช้หลักเกณฑ์เดิมในการจัดสอบได้ โดยมาตรฐานตำแหน่งเดิมกำหนดให้ครูผู้สอนสามารถสมัครสอบคัดเลือกเป็น ผอ.สถานศึกษาอาชีวะได้ คือ ดำรงตำแหน่งครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินการสอบคัดเลือกของ สอศ. หลายครั้งมีกรณีผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครูสามารถผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษามาแล้วหลายครั้ง จึงถือเป็นวินัยปกติหากผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครูสามารถผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ ประกอบกับผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครูได้ผ่านการประเมินตามหลักสูตร องค์ประกอบ และตัวตัวชี้วัดที่กำหนดเช่นเดียวกับผู้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุ และแต่งตั้งรายอื่น ดังนั้นจึงถือได้ว่าผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครู ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงดำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้มีความพร้อมในด้านความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนดทุกประการ และเป็นแนวปฏิบัติที่เคยไช้ดำเนินการคัดเลือกมาแล้วไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครแต่อย่างใด
ด้านนายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ในส่วนของการสอบคัดเลือกแบ่งเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค ก ความรู้และความสามารถในการบริหารในหน้าที่ มีคะแนน ร้อยละ 10 ดำเนินการด้วยวิธีสอบข้อเขียนแบบปรนัย จำนวน 100 ข้อ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกข้อสอบ คัดเลือกข้อสอบ พิมพ์ข้อสอบ จัดห้องสอบ ควบคุมการสอบ และตรวจข้อสอบทั้งหมด ส่วนการสอย ภาค ข มีคะแนนร้อยละ 60 และภาค ค ร้อยละ 30 โดยการเทียบคะแนนของ สอศ. มีการเทียบเป็นแบบร้อยละ หรือภาคละ 33% ซึ่งคะแนนจะมีแบ่งเป็นด้านการบริหารวิทยาลัยทั้งด้านคน แผนการศึกษา ซึ่งต่างจากสพฐ.ที่เน้นบริหารในด้านวิชาการอย่างเดียว