25-03-2568

สพฐ. เร่งขยายเครือข่ายโรงเรียนจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ พร้อมปูพรมแผน “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” ยัน ไม่มีเด็กตกหล่นหรือออกกลางคัน

   ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ นำนโยบาย “OBEC Zero Dropout” หรือ “สพฐ. ไม่มีเด็กตกหล่นหรือออกกลางคัน” ไปสู่แผนการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2568 ของทุกเขตพื้นที่การศึกษา โดยใช้ชื่อโครงการว่า “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” ซึ่งมีเป้าหมายให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา และมีโอกาสได้เรียนในทุกพื้นที่ นั้น จากการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ รอบที่ 1 ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมีนาคม 2568 พบว่า การติดตามเด็กตกหล่น อายุระหว่าง 3-18 ปี จำนวน 616,625 คน พบตัวแล้ว 195,432 คน คิดเป็นร้อยละ 31.69 ไม่พบตัว 421,193 คน คิดเป็นร้อยละ 68.31 ในจำนวนที่พบตัวได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว 54,629 คน คิดเป็นร้อยละ 8.87 ซึ่งตนได้กำชับให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาเร่งติดตามค้นหาเด็กตกหล่นเหล่านี้ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้เร็วที่สุด โดยจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเข้ามารองรับ เช่น ใช้แนวทาง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งมีทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราก็จะพาการศึกษาไปหาเด็กๆ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime

   เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า Thailand Zero Dropout เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตนมั่นใจว่า โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” จะสามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองที่มีความจำเป็นแตกต่างกันได้ ทั้งนี้ “นำการเรียนไปให้น้อง” จะจัดสำหรับนักเรียนที่มีความจำเป็นเฉพาะไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนในระบบได้ โรงเรียนก็จะนำการเรียนไปให้นักเรียนได้เรียนที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย โดยปัจจุบันมีการนำร่องนำการเรียนไปให้น้องในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรียนมือถือ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา, ห้องเรียน/บวรสร้างโอกาส, ห้องเรียนเคลื่อนที่ ห้องเรียนสาขา, เครดิตแบงก์/เทียบโอนหน่วยกิต และเปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โดยครูประจำชั้น ครูฝ่ายวิชาการ ร่วมจัดหาสื่อการเรียนรู้ นำแบบฝึกใบงานไปให้นักเรียนที่บ้าน ผู้ปกครองช่วยสอนและทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน มีการประเมินนักเรียนจากคลิปวิดีโอที่ผู้ปกครองส่งให้ เป็นต้น  

   ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 54 โรงเรียน ใน 16 เขตตรวจราชการที่เป็นโรงเรียนต้นแบบจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ และมีโรงเรียน จำนวน 927 โรงเรียนที่สมัครพัฒนาโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ ผอ.สพท. ทั่วประเทศ มีการบูรณาการดำเนินงานแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเชิญชวนประสานกับภาคีเครือข่าย หรือชุมชนมาร่วมค้นหา จัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น และมีการชี้เป้า เฝ้าระวัง เด็กเยาวชนที่มีลักษณะที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพื่อพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง ให้ได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง สู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout หรือ เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ให้เร็วที่สุด