ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการนำที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ในการประเด็นการจัดซื้ออุปกรณ์เสริมการเรียนการสอนของครูและนักเรียน แบ่งออกเป็น 5 โครงการ คือ 1.โครงการประกวดราคาเช่าอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับครูและนักเรียน สังกัดสพฐ.วงเงิน 14,655,316,800 บาท 2.โครงการประกวดราคาเช่าใช้ระบบคลาวด์ วงเงิน 2,800,158,000 บาท 3.โครงการประกวดราคาซื้อซอฟแวร์สำเร็จรูปพร้อมพัฒนาแพลทฟอร์มการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน ระยะที่ 2 วงเงิน 1,330,085,600 บาท 4.โครงการประกวดราคาจ้างเหมาบริการจัดหานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ ระยะที่ 2 วงเงิน 237,050,000 บาท และ 5.โครงการประกวดราคาจ้างเหมาดำเนินการจัดหานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 ระยะที่ 2 วงเงิน 195,625,000 บาท
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ 5 โครงการดังกล่าวเป็นการจัดทำข้อกำหนดการจัดซื้อจ้างหรือ ทีโออาร์ ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยขณะนี้ได้ประกาศบนเว็บไซต์ของสพฐ.เพื่อทำประชาพิจารณ์ต่อไป เนื่องจากโครงการเหล่านี้ถือเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง โดยสพฐ.จำเป็นจะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบรัดกุม เพื่อให้ทุกโครงการโปร่งใสและตรวจสอบได้ อีกทั้งจะต้องเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและเกิดประโยชน์ต่อทางราชการด้วย
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมดังกล่าวตนได้ย้ำถึงการรับนักเรียนชั้นม.1และม.4 ประเภทห้องเรียนปกติ ปี 2568 ซึ่งจะมีการจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 29-30 มี.ค.นี้ ดังนั้นจึงฝากแจ้งถึงผู้ปกครองนักเรียนทุกคนหากพลาดหวังในโรงเรียนดังก็ไม่ต้องกังวล สพฐ.มีโรงเรียนรองรับอย่างพอเพียง ขอให้ไปแจ้งความจำนงได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ทั่วประเทศจะมีการดำเนินการจัดสรรที่เรียนให้ และขอยืนยันว่าเด็กจะมีที่นั่งเรียนครบทุกคน