นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่ วธ. นำเสนอ 3 วาระ ดังนี้ 1. เห็นชอบเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” (Loy Krathong : Traditional Water - honoring Festival in Thailand) เพื่อเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกและเห็นชอบให้อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าว
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า การเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ดำเนินการตามมาตรา 16 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ซึ่งประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย มีคุณค่าความสำคัญสอดคล้องตามหลักเกณฑ์การเสนอในประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก และประเพณีลอยกระทงได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี 2554 ดังนั้นการเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็น Soft Power ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะด้านเฟสติวัลเพื่อส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเทศกาลประเพณีให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก กระตุ้นให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ที่สำคัญนำทุนทางวัฒนธรรม พัฒนาสู่ทุนทางเศรษฐกิจสร้างงาน สร้างรายได้อันจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับอนุรักษ์ประเพณีและสิ่งแวดล้อมและเป็นโอกาสเสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทไทยในเวทีโลก ที่สำคัญยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติตามนโยบายวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ วธ. อีกด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จำนวน 6 รายการ ได้แก่ โขน (ปี 2561) นวดไทย (ปี 2562) โนรา (ปี 2564) สงกรานต์ในประเทศไทย (ปี 2566) ต้มยำกุ้ง (ปี 2567) และเคบายา (ปี 2567)
รมว.วธ. กล่าวอีกว่า 2.เห็นชอบแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เป็นกรอบทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามของไทย โดยนำมิติวัฒนธรรมมาเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายต่อไป โดยแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติฉบับนี้มุ่งหวังให้มิติวัฒนธรรมพัฒนาประเทศสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”ภายในปี 2580อย่างเป็นรูปธรรม โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีให้กับสังคมไทย 3.พัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ส่งเสริมภาพลักษณ์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยในระดับชาติและระดับโลก 4.ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากทุนทางวัฒนธรรม และ5.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานวัฒนธรรม
“แผนแม่บทฉบับนี้ได้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามของไทย ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากทุนทางวัฒนธรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมและผลักดันบทบาทงานด้านวัฒนธรรมให้ครอบคลุมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการใช้มรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ขับเคลื่อนเป้าหมายในมิติสังคม เพื่อให้เด็กเยาวชนและประชาชนมีภูมิคุ้มกันด้านสังคม และมีเป้าหมายในมิติเศรษฐกิจนำทุนทางวัฒนธรรมขับเคลื่อน Soft Power ผลักดันนวัตกรรมทางวัฒนธรรม ยกระดับสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสู่ระดับโลก” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า 3.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. .... ซึ่ง วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เพื่อใชบังคับแทนพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเติบโตและแข่งขันกับนานาประเทศได้ และลดอุปสรรคในการเข้ามาผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการดึงดูดการเข้ามาผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทยอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง
“ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เรียบร้อยและที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. .... แล้ว” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว
รมว.วธ. กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีสาระสำคัญ อาทิ การใช้ระบบการรับรองตนเองแทนการตรวจโดยคณะกรรมการจากภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งนำระบบการจดแจ้งมาใช้แทนระบบขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมทั้งปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลโดยใช้โทษปรับเป็นพินัยแทนโทษอาญา เว้นแต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรซึ่งยังคงมีโทษทางอาญาอยู่ โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วย 7 หมวด 110 มาตราและมีผู้รักษาการคือรัฐมนตรีว่าการ วธ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร เป็นต้น