วันที่ 1 เมษายน 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เกิดรอยร้าว หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบ กรมศิลปากร โดยกองโบราณคดี กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม จึงเข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 และรายงานว่า ส่วนพระเศียร บริเวณพระศกและพระเกศา ไม่พบร่องรอยความชำรุดเสียหาย แต่พบรอยร้าวตั้งแต่ พระเนตรเป็นแนวถึงพระปรางขวา บริเวณพระกรรณขวา และบริเวณองค์พระพบความชำรุดของชั้นผิวเกิดการโป่งพอง บริเวณพระจุฑามาศ (ท้ายทอย) พบรอยร้าว ด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ พบรอยร้าวเพิ่มขึ้นในชั้นผิวที่ลงรักปิดทอง ส่วนฝ่าพระบาท ที่ตกแต่งด้วยลวดลายประดับมุขมงคล 108 มีสภาพสมบูรณ์ไม่พบความชำรุด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สภาพความชำรุดส่วนใหญ่โดยเฉพาะรอยร้าวเป็นจุดที่ชำรุดเดิมจากการสำรวจเมื่อปี 2566 หลังจากนี้จะให้ทำการสำรวจรอยร้าวอย่างละเอียดอีกครั้งโดยวิศวกร รวมถึงตรวจวัดความชื้นองค์พระพุทธไสยาสน์ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบในวันนี้เห็นว่าองค์พระพุทธไสยาสน์ปัจจุบันมีความชำรุด ควรได้รับการอนุรักษซ่อมแซม จึงสั่งการให้กรมศิลปากรจัดทำแผนบูรณะองค์พระพุทธไสยาสน์ตามหลักวิชาการที่เหมาะสมต่อไป
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในภาพรวมของกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากกรมศิลปากรจะสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว ส่วนในพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ได้รับรายงานว่ามีผลกระทบ เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน เป็นต้น ขณะนี้ทางผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและจะรายงานรายละเอียดโดยเร็ว กรมการศาสนา สำรวจความเสียหายของศาสนสถาน พร้อมทั้งดูแลพระภิกษุสงฆ์ นักบวช ตลอดจนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้ดูแลศิลปินแห่งชาติ ศิลปินที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ ตลอดจน สำรวจอาคาร สถานที่ ทรัพย์สินของทางราชการ รวมทั้งผลกระทบต่อบุคลากรและเครือข่ายทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรในหน่วยงาน จึงขอให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตรวจสอบ ความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยของโครงสร้างอาคารหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น หากยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยในการใช้อาคาร หัวหน้าส่วนราชการสามารถกำหนดให้มีการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (work from home) ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยขอให้แต่ละหน่วยงานรายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะ