ภาษาไทยใช้ให้ถูก บาร์โคด
ในยุคปัจจุบันนี้เวลาที่คุณผู้ฟังไปจับจ่ายซื้อข้าวของในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาเก็ต ถึงตอนที่ จะต้องจ่ายเงิน พนักงานคิดเงินหรือที่เรามักเรียกกันว่า แคชเชียร์ ก็จะเอาสินค้าไปใช้เครื่องส่องที่ป้ายที่มีลักษณะเป็นเส้นสั้นๆ หนาบ้างบางบ้าง เรียงขนานกันห่างบ้างชิดบ้าง ซึ่งพิมพ์อยู่บนวัสดุหรือสินค้านั้นๆ เจ้าป้ายที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า บาร์โคด (โค้ด) บาร์โคดนี้มีไว้เพื่อบอกข้อมูลต่างๆ เช่น ราคา ประเภทสินค้า ที่อยู่ของบุคคล เมื่อนำเครื่องไปสแกนบาร์โคด เครื่องนี้จะอ่านข้อมูลต่างๆ พนักงานก็จะคิดราคาสินค้าได้ถูกต้องและรวดเร็ว การที่ใช้เครื่องอ่านบาร์โคด เราเรียกว่า สแกนบาร์โคด หรือ ภาษาปากก็มักเรียกว่ายิงบาร์โคด ก็มีบาร์โคด มาจากภาษาอังกฤษ Barcode
ภาษาไทยใช้ให้ถูก เต้าหู้ยี้
ถ้าพูดถึงอาหารจีนอย่างหนึ่งที่ทำด้วยถั่วเหลืองมีรสเค็มๆ กินกับข้าวต้ม หลายคนคงนึกไปถึง เต้าหู้ยี้ ถูกต้องแล้วค่ะ เต้าหู้ยี้ ใช้ถั่วเหลืองทำเป็นเต้าหู้แล้วหมัก มีสองชนิดคือ เต้าหู้ยี้ขาว และเต้าหู้ยี้แดงเต้าหู้ยี้ ทั้งขาวและแดง เราสามารถกินได้โดยไม่ต้องไปดัดแปลงอะไรทั้งสิ้น เรียกว่า เปิดขวด หรือเปิดฝาภาชนะก็กินได้เลย แต่บางคนก็บีบมะนาว ซอยพริกขี้หนูใส่ไปด้วย ก็จะได้รสชาติไปอีกแบบหนึ่ง
นอกจากนี้เต้าหู้ยี้ยังใช้เป็นส่วนผสมในอาหารบางชนิด เช่น สุกียากี้ ซี่โครงหมูหมักเต้าหู้ยี้ น้ำราดเย็นตาโฟคำว่า เต้าหู้ยี้นี้ยังถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับคนด้วยนะคะ แต่เป็นคนที่น่ารังเกียจเพราะไม่มีความสามารถเหมาะกับตำแหน่ง เช่น ในหน่วยงานของเรามีคนที่เป็นเต้าหู้ยี้ตั้งหลายคน คำว่า เต้าหู้ยี้นี้เราใช้เลียนเสียงคำว่า ยี้ นั่นเองค่ะ
ส่วนอีกความหมายหนึ่งของเต้าหู้ยี้ คือ น่าเกลียดและมีผิวหน้าขรุขระ เช่น คนสวยๆอย่างเธอทำไมถึงได้เลือกคนหน้าเต้าหู้ยี้มาเป็นแฟน ความหมายนี้ก็เลียนเสียงคำว่า ยี้ เช่นกันค่ะ