19-04-2561

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ออกเสียงสระผิด

มีคำไทยอยู่สองสามคำที่เรามักได้ยินมีผู้ออกเสียงผิด ที่กล่าวว่าผิดคือ คำทั้งสามที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น แต่มักออกเสียงเป็นสระเสียงยาว เมื่อออกเสียงผิดก็ส่งผลให้เขียนผิดตามไปด้วย คำสามคำนี้คือ ประณีต มาตรฐาน และ ประนีประนอม แต่เรามักจะได้ยินว่ามีผู้ออกเสียงเป็น ปราณีต มาตราฐาน และ ปรานีประนอม ประณีต หมายถึง ละเอียดลออ เรียบร้อย งดงาม เช่น ฝีมือแกะสลักประณีตมาก มาตรฐาน หมายถึง สิ่งที่ถือเอาเป็น เกณฑ์ที่รับรองกันทั่วไป สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์สำหรับเทียบกำหนดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ หนังสือนี้ยังไม่เข้ามาตรฐาน อย่างนี้เป็นต้น  และคำว่า ประนีประนอม หมายถึง ผ่อนหนักผ่อนเบาให้แก่กัน ปรองดองกัน อะลุ้มอล่วยกัน

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก แบกะดิน

 

สมัยที่ผู้บรรยายยังเป็นเด็กเคยได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านคุยกันว่า วันนี้ไปห้างแบกะดินมา ในตอนนั้นได้ฟังก็เข้าใจว่า ห้างสรรพสินค้าชื่อ แบกะดิน ก็ไม่ได้สงสัยอะไร แต่เมื่อมาโตขึ้นจึงได้เข้าใจว่า ห้างแบกะดินไม่เคยมี เป็นเพียงคำพูดประชดประชันเท่านั้น เพราะสมัยก่อนโน้นมีห้างสรรพสินค้าอยู่ไม่กี่ห้าง เช่น ห้างวังบูรพา ห้างไนติงเกล ที่สำคัญคือ ถ้าใครไปห้างก็หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีฐานะดีสักหน่อย ผู้ที่มีฐานะธรรมดาหรือค่อนไปทางยากจนก็จะซื้อของตามร้านโชห่วยธรรมดา ๆ หรือ ที่มีคนนำสินค้ามาวางขายบนพื้นโดยปูผ้าพลาสติกรองไว้ นี่เอง ดังนั้นจึงได้เกิดคำพูดล้อเลียนว่า ห้างแบกะดิน

ปัจจุบันนี้คำว่า แบกะดิน ราชบัณฑิตยสภา ได้เก็บคำนี้ไว้ในพจนานุกรมคำใหม่ ว่า ร้านหรือของที่วางขายบนพื้นตามบาทวิถี มักเป็นของเก่า ของราคาถูก หรือ ของแปลก ๆ แต่ในอดีต คำว่า แบกะดิน ก็คือสินค้าทั่วไปที่วางขายบนพื้นหรือของที่ขายในร้านโชห่วย