10-03-2558

ภาษาไทยใช้ให้ถูก "สำนวนหมู"

         หมู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ หมูมีทั้งหมูเลี้ยงและหมูป่า กล่าวกันว่า หมูทำอาหารอะไรก็อร่อย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแดง เนื้อสามชั้น หัวหมู หางหมู ขาหมู หรือ ตีนหมูที่เรียกกันว่าคากิ เป็นที่นิยมของนักบริโภคหมูทั้งสิ้น ด้วยความที่เนื้อหมูเป็นของหาง่าย มีขายทั่วไปเป็นประจำทุกวัน คนนิยมกินแทบทุกบ้านทุกเรือน ดังนั้น คำว่า หมู จึงกลายเป็นสำนวนไทยมากมาย เริ่มจาก คำว่า หมู หรือ หมูๆ  หมู หรือ หมูๆ หมายถึง ง่าย สะดวก จะทำอะไรก็ได้คล่องๆ ไม่มีติดขัด    ต่อมาก็เป็น หมูเขาจะหาม เอาคานเข้าไปสอด มีความหมายว่า เข้าไปขัดขวางขณะที่เขาทำอะไรเป็นส่วนตัวกำลังจะสำเร็จ  สำนวนต่อมาคือ หมูในเล้า หมายถึง อยู่ในกำมือจะทำหรือจัดการเสียเมื่อไรก็ได้ ไม่ลำบากยากเข็ญ  หมูเขี้ยวตัน ความหมายคือ บุคคลที่คิดว่าจะหลอกหรือเอาชนะได้ง่ายๆ แต่กลับปรากฏว่าตรงกันข้าม  หมูในอวย  อวยก็คือหม้อสำหรับใส่ข้าวใส่แกงน่ะแหละค่ะ หมูในอวย ก็คือ เนื้อหมูที่ต้มสุกอยู่ในอวยแล้ว เป็นสำนวนหมายความว่า ง่ายเหลือเกิน สำนวนต่อมา หมูไปไก่มา หมายถึง ให้หมูเขาไปเป็นของกำนัล เขาก็ให้ไก่มาเป็นการตอบแทน ใช้เป็นสำนวนหมายความว่า แสดงน้ำใจไมตรีตอบแทนกันและกัน  หมูสนาม สำนวนนี้ถ้าใครเป็นแฟนกีฬาฟุตบอล คงจะได้ยินผู้บรรยายกีฬาใช้กันอยู่บ่อยๆ เวลาที่ทีมใดพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ว่าเป็นหมูสนาม ความหมายคือ ไม่เก่ง ไม่มีฝีมือ เป็นรองให้เขาทำข้างเดียว สำนวนสมัยใหม่ใช้ว่า หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม ความหมายคือ เวลาซ้อมดูเหมือนเก่ง แต่เวลาแข่งจริงกับไร้ฝีมือ เป็นต้น