27-04-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 2 บิลค่าไฟฟ้า

สวัสดีค่ะสำหรับ ในวันนี้….. ก็จะมาพูดถึงเรื่องของบิลค่าไฟฟ้ากันนะคะ

เชื่อว่าในช่วงของเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนมาก หลาย ๆ ท่านคงจะตกใจกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากกว่าปกตินะคะ ในวันนี้ก็เลยอยากจะมาพูดถึงเรื่องของ
การอ่านบิลค่าไฟกันว่า ในบิลที่เราได้ในแต่ละเดือนเนี่ย มีรายละเอียดหรือสิ่งที่ควรรู้อะไรบ้าง

เราลองนำบิลค่าไฟมาดูกันนะคะ ถ้าเป็นบิลค่าไฟฟ้าของบ้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเป็นการเรียกเก็บเงินจากการไฟฟ้านครหลวง จะเป็นบิลที่มีตัวอักษรสีส้ม ๆ ค่ะ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ จะเป็นการเรียกเก็บเงินจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเป็นบิลที่มีตัวอักษรสีม่วง ๆ ค่ะ ซึ่งในบิลค่าไฟนั้นหลัก ๆ ก็จะประกอบด้วย

ส่วนแรกจะเป็นข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า ก็จะมี ชื่อ สถานที่ใช้ไฟฟ้า หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า แล้วก็วันและเวลาที่เจ้าหน้าที่ได้มาจดหน่วยไฟฟ้าจากมิเตอร์ครั้งล่าสุดเทียบกับครั้งก่อน และสรุปเป็นจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในเดือนนั้นนะคะ

ถัดมาจะเป็นรายละเอียดค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ...โดยจะมี

ค่าพลังงานไฟฟ้า ในส่วนนี้ก็จะคิดจากต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง
สายจำหน่ายแล้วก็ค่าผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะคิดในอัตราก้าวหน้าจากหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ความหมายก็คือ ค่าไฟฟ้าไม่ได้คิดเท่ากันทุกหน่วยนะคะ แต่ถ้ายิ่งใช้ไฟเยอะราคาต่อหน่วยจะยิ่งแพงขึ้นค่ะ

          ค่าที่ 2 คือ ค่าบริการ เป็นค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายและบริการการจดหน่วยไฟฟ้า รวมถึง
งานบริการลูกค้าต่าง ๆ โดยค่าบริการสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบบ้านอยู่อาศัยส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 อัตรา คือ

  • บ้านที่ใช้ไฟน้อย ไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน และติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ จะคิดค่าบริการ 8.19 บาท/เดือน
  • ส่วนบ้านมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป และบ้านที่ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ ไม่ว่าจะใช้กี่หน่วยก็ตาม จะคิดค่าบริการ 38.22 บาท/เดือน

สำหรับค่าสุดท้ายที่คนมักจะสงสัยและถามกันเยอะว่าเป็นค่าอะไรนะคะ คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกว่า ค่า Ft ซึ่งจะขึ้นอยู่กับค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่จะสะท้อนจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เราใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า สังเกตได้ว่าถ้าช่วงที่ก๊าซธรรมชาติมีราคาแพง ค่า Ft ก็จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่า Ft ยังรวมถึง ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลานะคะ ค่า Ft จะมีทั้งเป็นค่าบวกและค่าลบ และจะมีการปรับทุก ๆ 4 เดือนโดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า หรือ กกพ. เป็นผู้กำหนด ล่าสุดประกาศในรอบเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม พ.ศ. 2565 จะเรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 4.00 บาทต่อหน่วยค่ะ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย จึงได้ออกมาตรการช่วยสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยจะลดค่า Ft ให้ 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงรอบไตรมาสนี้ค่ะ

หลายคนอาจจะยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมต้องมาคิดค่า FT ในค่าไฟด้วย ไม่คิดไม่ได้หรอ? เนื่องจาก ค่า Ft จะเป็นตัวสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า เป็นกลไกที่สร้างความเป็นธรรมให้ทั้งสองฝ่าย ถ้าเราไม่คิดค่า Ft

  • กรณีที่คาดการณ์ค่าเชื้อเพลิงไว้สูง แต่เชื้อเพลิงมีการปรับตัวลดลง ประชาชนอาจเสียประโยชน์เพราะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพง หรือ
  • กรณีที่คาดการณ์ค่าเชื้อเพลิงไว้ต่ำ แต่ต่อมามีการปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตอาจต้องแบกรับภาระค่าต้นทุนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าและการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตและความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศได้ค่ะ

          ก็หวังว่าผู้ฟังจะเข้าใจในการอ่านบิลค่าไฟฟ้ามากขึ้น ถ้าหากว่าเดือนนี้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ลองไปดูในบิลว่า จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนจากประวัติการใช้ย้อนหลัง และลองไปเช็คกับหน่วยที่มิเตอร์ว่าตรงกันหรือไม่นะคะ