01-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 58 แม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City)

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับสาระความรู้ดี ๆ ในเรื่องพลังงานกับช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” กันอีกเช่นเคยนะคะ 

   คุณผู้ฟังหลายๆท่าน น่าจะรู้จักและเคยได้ยินชื่ออำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางกันมาบ้างแล้ว เพราะเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของภาคเหนือ ทั้งเหมืองแม่เมาะและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินงานในพื้นที่อำเภอแม่เมาะมากว่า 40 ปี ซึ่งปัจจุบัน เหมืองแม่เมาะและโรงไฟฟ้า มีส่วนช่วยส่งเสริมอาชีพ และการจ้างงาน รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดกว่าร้อยละ 20 ผ่านการดำเนินงานตามภารกิจของ กฟผ. และงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า รวมถึงยังมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนแม่เมาะให้กินดีอยู่ดีด้วย

          แต่ทว่าในปี 2594 เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะต้องถูกปิดตัวลงตามอายุการใช้งาน จึงอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการท่องเที่ยว รวมถึงงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่จะหายไป   ดังนั้น ชุมชนอำเภอแม่เมาะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กฟผ. จึงลุกขึ้นมาจับมือร่วมกันศึกษาแนวคิดที่จะพลิกโฉมให้ อำเภอแม่เมาะ กลายเป็นเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ (Eco Town) โดยสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนภายหลังการปิดเหมืองและโรงไฟฟ้าไปแล้ว ภายใต้โครงการ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ หรือ Mae Moh Smart City ที่ดึงให้ ‘ทุกคนในชุมชน’ มาร่วม คิด และ ขับเคลื่อน ด้วยมือของชุมชนเอง ผ่าน 3 แนวคิด ได้แก่  

1. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)

          แน่นอนว่า เมื่อเป็นพื้นที่ตั้งของแหล่งผลิตพลังงานสำคัญของภาคเหนือ การพัฒนาด้านพลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ด้วยแนวคิด พลังงานอัจฉริยะที่ได้นำเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่ให้มากขึ้น ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการ Near Zero Energy Building เป็นการติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 60 กิโลวัตต์ ในศูนย์ฝึกอบรม กฟผ. เเม่เมาะ ทำให้เกิดการผลิตเเละใช้พลังงานทดเเทน มากกว่า 30% ของพื้นที่อาคารใน กฟผ. เเม่เมาะ,  โครงการ Biomass Co-Firing เป็นการรับซื้อพืชชีวมวลจากวิสาหกิจชุมชนเเละเครือข่าย นำมาผลิตเป็นเม็ดชีวมวล สำหรับส่งไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้า,  และโครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอแม่เมาะอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และรถมินิบัส ไว้บริการนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 2. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

              เป็นแนวคิดที่มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นในชุมชน สร้างฐานข้อมูลด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่ การสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชน ซึ่งสามารถผลักดันหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการมากกว่า 30% ของหมู่บ้านในอำเภอแม่เมาะ คิดเป็นพื้นที่ป่ามากกว่า 30,000 ไร่ และยังมีการปลูกป่าในพื้นที่ฟื้นฟูสภาพเหมือง รวมแล้วช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 100,000 ตันต่อปี, การสร้างศูนย์การเรียนรู้การปลูกป่าตามศาสตร์พระราชาสำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาดูงาน, การพัฒนาระบบประเมินปริมาณฝุ่นและคุณภาพอากาศจำลองขึ้นมารองรับปัญหาหมอกควันที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว และระบบรายงานข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. แม่เมาะ แบบออนไลน์, นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “Lampang Hotspot” รายงานสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดลำปาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทีมดับไฟป่าใช้ในการเฝ้าระวังพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที และเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมรับมือและปฏิบัติตัวให้เหมาะกับสภาพอากาศ เป็นหนึ่งในแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพของคนลำปางทุกคน

 3. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)

               เป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างการนำเสนอสินค้าหรือบริการของชุมชนแม่เมาะ และการตลาด ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม และพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่สู่ระดับประเทศ ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าเกษตรของอำเภอแม่เมาะด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับคนในชุมชน ภายใต้ชื่อ “แม่เมาะแบรนด์” ควบคู่กับการส่งเสริมช่องทางตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น, การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม, และโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุพลอยได้ของ กฟผ. แม่เมาะ เช่น ยิปซัมสังเคราะห์ และการแปรรูปลีโอนาไดท์

              และทั้ง 3 แนวคิดที่กล่าวไปนี้ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาให้แม่เมาะเป็นเมืองที่น่าอยู่ ที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของชุมชนอำเภอแม่เมาะให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนของชุมชนเอง และเป็นต้นแบบในการเดินหน้าพัฒนาให้เกิดสมาร์ทซิตี้ จนสามารถขยายต่อไปยังทั่วทุกเมืองในประเทศ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศสู่ “ไทยแลนด์สมาร์ทซิตี้ (Thailand Smart City)” ได้ในอนาคต

กลับมาพบกับสาระความรู้ดี ๆ ด้านพลังงานกันได้ใหม่ในตอนต่อไป สวัสดีค่ะ