14-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 62 โรงไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้

ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” สำหรับเรื่องราวดี ๆ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “โรงไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ จากการเกษตรและอุตสาหกรรม” หรือที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กันค่ะ

      ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ทำการเกษตรเป็นหลัก และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำการแปรรูปผลผลิตที่ได้จากการเกษตร โดยในกระบวนการผลิตและแปรรูปนั้น ย่อมต้องมีวัสดุเหลือใช้ที่ไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ จึงมีแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ดังกล่าว นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้า

     ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับชีวมวลและก๊าซชีวภาพกันก่อนนะคะ ว่าคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร

ชีวมวล หรือ Biomass คือ สิ่งที่ได้จากสิ่งมีชีวิตหรือสารอินทรีย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้โดยรวมถึงวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เช่น เหง้ามันสำปะหลัง ฟางข้าว ยอดใบและลำต้นของข้าวโพด ลำต้นปาล์มน้ำมัน หรือจากโรงงานอุตสาหกรรมที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เปลือกและกากมันสำปะหลัง เส้นใยและกะลาปาล์ม เศษไม้ยางพารา

สำหรับ ก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas คือ ก๊าซที่เกิดขึ้นจากการหมัก และกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์จาก คน สัตว์ พืช และซากของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้อากาศ จนกลายเป็นก๊าซชีวภาพ มีก๊าซมีเทนเป็นก๊าซหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้ดี

    จากเชื้อเพลิงที่มีความแตกต่างกัน จึงสามารถแยกโรงไฟฟ้าที่ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและอุตสาหกรรม ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ

โดยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภทจะแตกต่างกันเล็กน้อยในขั้นตอนของการเตรียมเชื้อเพลิงค่ะ

ถ้าเป็น การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล จะเริ่มจากการปลูกพืชผลทางการเกษตร เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะมีวัสดุเหลือใช้เกิดขึ้น ซึ่งวัสดุเหลือใช้เหล่านั้น จะถูกเรียกว่า “ชีวมวล” จากนั้นจะเป็นการนำชีวมวลส่งไปยังโรงไฟฟ้า เข้ากระบวนการเผา เพื่อนำความร้อนที่ได้ไปผลิตไอน้ำที่อุณหภูมิและความดันสูง และนำไอน้ำไปขับกังหันไอน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ส่วน การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จะเริ่มจากการหมักพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ มูลสัตว์ต่าง ๆ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แล้วจึงส่งไปยัง “ถังหมักก๊าซชีวภาพ” ผ่านกระบวนการหมัก เกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ได้ออกมาเป็นก๊าซชีวภาพ จากนั้นจึงนำก๊าซดังกล่าวไปใช้ทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้า ผลิตความร้อน และผลิตพลังงานร่วมทั้งไฟฟ้าและความร้อน (Cogeneration System)

เหตุผลที่ประเทศไทยหันมาให้ความสนใจกับ การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทนี้ เพราะมีข้อดีคือ

  • ประการแรก ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพมีต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ
  • และเนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีวัตถุดิบปริมาณมาก ทำให้เชื้อเพลิงที่หามาได้มีราคาค่อนข้างถูก
  • นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้อีกด้วย
  • อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการขยะในภาคครัวเรือน
  • และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนด้วยค่ะ

แน่นอนว่าเมื่อมีข้อดีก็ย่อมต้องมีข้อจำกัดด้วย ซึ่งข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าประเภทนี้ ก็คือ

  • วัตถุดิบจากพืชผลทางการเกษตรมีวงจรการผลิตตามฤดูกาล อาจมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ
  • โดยวัสดุเหลือใช้บางชนิดไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ต้องมีระบบการจัดเก็บที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความเสียหาย และต้องใช้พื้นที่จัดเก็บขนาดใหญ่
  • นอกจากนี้ การเติบโตของตลาดชีวมวลและก๊าซชีวภาพอาจส่งผลให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เมื่อพื้นที่การเกษตรถูกแย่งชิงไปทำการเพาะปลูกพืชพลังงานแทน
  • และอาจก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ เพื่อมาใช้เพาะปลูกพืชเหล่านี้อีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีแผนจะผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ รวมกำลังการผลิต 7,355 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

หวังว่าเรื่องราวในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังทุกท่าน กลับมาพบกับสาระดีๆ ได้ใหม่ในตอนหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ


ที่มา https://www.thebangkokinsight.com/news/environmental-sustainability/532175/#:~:text=ใช้ต่อไป-,แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก%20พ.ศ,หมุนเวียนที่%2029%2C411%20เมกะวัตต์