ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาทีกับ กฟผ.” วันนี้ทางรายการของเราก็มีสาระความรู้ด้านพลังงานมาเล่าให้ทุกคนฟังกันอีกเช่นเคย จะเป็นเรื่องอะไร ไปติดตามกันค่ะ
ปัจจุบันทิศทางพลังงานโลกมุ่งเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน บวกกับปัจจัยด้านราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันผวนอย่างหนัก ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์นั้นยังจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยบริหารจัดการพลังงาน รวมถึงแบตเตอรี่เพื่อให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยได้ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Rooftop ไว้บนอาคารต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มากถึง 44 อาคาร รวมกำลังผลิตติดตั้ง 6.28 เมกะวัตต์ ทำให้ในบางช่วงเวลาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก Solar Rooftop มีมากเกินความต้องการ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. นำระบบไมโครกริดและระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้โครงการ TU EGAT Energy ซึ่งเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน หรือ ERC Sandbox ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมีเป้าหมายทดสอบการให้บริการด้านพลังงานทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1.ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ 2. โครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ 3. นวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงานในไมโครกริด และ 4.ระบบกักเก็บพลังงาน
กฟผ. นำระบบบริหารจัดการพลังงานการผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop มาเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่ กฟผ. ติดตั้งไว้ เมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ามากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า ระบบจะสั่งการให้นำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเหล่านี้ไปกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ รวมถึงในช่วงที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ ได้แก่ ช่วงเวลา 22.00 – 03.00 น. ซึ่งมีราคาค่าไฟอยู่ที่ 2.61 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ระบบจะสั่งการให้ชาร์จไฟฟ้ากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่โดยอัตโนมัติ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่เก็บไว้ไปจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือช่วงที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูง คือ ช่วงเวลา 14.00 – 18.00 น. มีราคาค่าไฟอยู่ที่ 4.23 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่ง ระบบบริหารจัดการพลังงานเป็นนวัตกรรมที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นในรูปแบบ Web Application เพื่อให้สามารถติดตามการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้รู้ได้ทันทีว่าการใช้พลังงานในปัจจุบันมีรูปแบบใดบ้าง ทั้งแบบรายห้อง รายอาคาร และรายกลุ่ม มีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใด ทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเมื่อกำลังการผลิตจากโซลาร์เซลล์หายไป ซึ่ง กฟผ. ได้นำระบบดังกล่าวมาใช้กับอาคารในกลุ่มการเรียนรู้ทางสังคมศาสตร์ จำนวน 8 อาคาร ได้แก่ อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ อาคารปฏิบัติการคณะวารสารศาสตร์ ศูนย์อาหาร และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างอาคารเข้ามาทดสอบในโครงการนี้ด้วย เมื่อบางอาคารผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เกินความต้องการ แทนที่จะเก็บไว้ในแบตเตอรี่ ก็สามารถขายให้กับอาคารที่ผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงสามารถออกใบเสร็จเมื่อซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแล้วเสร็จ เพื่อรองรับโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ในอนาคตที่จะมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยกันเองมากขึ้น จะเห็นได้ว่าความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ กฟผ. ในครั้งนี้ทำให้ระบบจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 4 แสนบาทต่อปี โดยเฉพาะการกักเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ในเวลาที่ต้องการ
โครงการ TU EGAT Energy จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาบริการด้านพลังงานอย่างครบวงจรของ กฟผ. เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ลดการใช้พลังงาน และตอบโจทย์ เทรนด์การใช้ไฟฟ้ายุคใหม่ที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กลับมาพบกับสาระความรู้ด้านพลังงานกันได้ใหม่ในตอนหน้านะคะ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ