ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” สำหรับเรื่องราวดี ๆ ในวันนี้จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในโครงการ Smart University ต้นแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เป็นที่ทราบกันดีว่า โลกของเรากำลังเผชิญภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงตั้งใจที่จะร่วมมือกันพัฒนามหาวิทยาลัยสู่โครงการ “Smart Campus- Chiang Mai Rajabhat University” รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในการใช้งานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่ง กฟผ. ได้จัดเตรียม Platform ไว้สำหรับใช้ในพื้นที่ Smart Campus พร้อมให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้ศึกษาและต่อยอดงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอีกด้วย
โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมลงนามสัญญากับ กฟผ. ให้บริการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบรับประกันผลงาน ในพื้นที่โครงการ Smart Campus ของมหาวิทยาลัยฯ โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงานของ กฟผ. มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ในรูปแบบ Win-Win Solution เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ และชุมชน ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน โดยการใช้ระบบบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ (Energy Management System: EMS) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย กฟผ. ร่วมกับระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคาร ภายใต้ Application ที่ชื่อว่า ENZY Platform และระบบกักเก็บพลังงาน (ENGY Wall) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอาคาร และลดค่าพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้น ระบบบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบกักเก็บพลังงาน กับระบบเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญสูง ทำให้ระบบเก็บข้อมูล มีความมั่นคง สามารถลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไปจากการขาดความต่อเนื่องของพลังงานไฟฟ้า และยังสามารถใช้พลังงานที่สะสมไว้บางส่วนในระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการพลังงาน และลดค่าพลังงานไฟฟ้าได้
สำหรับ Smart Campus ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประกอบไปด้วย 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เวียงบัว และพื้นที่ศูนย์แม่ริม โดย กฟผ. มุ่งพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้พลังงานสะอาด มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1.43 MW ระบบกักเก็บพลังงาน ขนาด 250 kWh ระบบบริหารจัดการพลังงานเพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานในมหาวิทยาลัย มีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถยนต์แบบ Normal Charge และแบบจ่ายพลังงานกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้า (V2G) พร้อมทั้งดัดแปลงรถยนต์ขนส่งนักศึกษาที่ใช้น้ำมันในมหาวิทยาลัยให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ปรับปรุงไฟถนนให้เป็น Smart Street Light เพื่อให้เกิดองค์รวมของ Smart Campus และสนับสนุนแผนนโยบาย Net Zero ของมหาวิทยาลัย โดยสัญญาฯ ฉบับนี้มีอายุสัญญา 15 ปี หลังจากนั้น กฟผ. จะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ครบกำหนด ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จะสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 110 ล้านบาท
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ถือเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ได้ลงนามกับ กฟผ. ซึ่งความสำเร็จของความร่วมมือกันในโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยลดภาวะโลกร้อน ประหยัดพลังงาน และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหวังให้เป็นโครงการต้นแบบของการเป็น Smart University ในเรื่องการลดใช้พลังงาน และยังสามารถเป็นต้นแบบขยายผลสู่มหาวิทยาลัยแห่งอื่น หรือชุมชนต่อไปในอนาคต อีกทั้งความรู้ความเข้าใจหรือประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ยังสามารถเผยแพร่ต่อชุมชนผ่านกระบวนการด้านการศึกษา ในขณะเดียวกันยังได้มีการศึกษาวิจัยร่วมกันกับ กฟผ. เพื่อสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาการต่าง ๆ ให้สูงขึ้นต่อไป โครงการนี้จึงถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้สังคมไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ได้อีกด้วย
กลับมาพบกับสาระความรู้ดี ๆ กันได้ใหม่ในตอนต่อไป สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ