13-12-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 73 ไทยจับมือจีน พัฒนา “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” ดวงแรกของอาเซียน

   สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาทีกับ กฟผ.”


   วันนี้ทางรายการของเรามีข่าวสารความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันของไทย หรือที่เคยเล่ามาในตอน ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ กันมาแล้ว โดยวันนี้เราจะมาอัพเดทข่าวสารล่าสุดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันวิจัยแบบโทคาแมค หรือ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” ที่เกิดจากความร่วมมือ ไทย-จีน ที่กำลังจะเดินเครื่องในปีหน้านี้แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร มาติดตามกันค่ะ

   จากที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. มีความร่วมมือกับประเทศจีนในโครงการความร่วมมือ “ไทยแลนด์ โทคาแมค-1” หรือ ทีที-1 ซึ่งเทคโนโลยีไทยแลนด์ โทคาแมค-1 ก็คือ การทดลองเครื่องปฏิกรณ์แบบโทคาแมค ซึ่งเป็นเครื่องจักรทดลองที่สามารถสร้างและปล่อยพลาสมาอุณหภูมิสูงพิเศษเพื่อจำลองสภาวะที่จำเป็นสำหรับ ปฏิกิริยาฟิวชันได้


   โดยโครงการนี้ได้มีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ


   ระยะที่ 1 การถอดแบบและศึกษาองค์ประกอบของเครื่องโทคาแมคและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ รวมถึงการก่อสร้างอาคาร ซึ่งปัจจุบัน ได้ทำการก่อสร้างอาคารโทคาแมค ทีที-1 ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) องค์รักษ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยการออกแบบอาคารเพื่อรองรับระบบต่างๆ ของเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน ได้รับการสนับสนุนจากทีมนักวิจัยจีนเป็นที่ปรึกษาตลอดการออกแบบและก่อสร้างอาคาร


   ระยะที่ 2 การส่งนักวิจัยเข้ารับการถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมร่วมออกแบบและพัฒนาระบบต่างๆ ของเครื่องโทคาแมค ตลอดจนสามารถเดินเครื่องได้ โดย กฟผ. และ สทน. ได้มีการส่งทีมนักวิจัยเดินทางไปศึกษาวิธีการใช้เครื่องโทคาแมค ณ สถาบันฟิสิกส์พลาสมาสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Institute of Plasma Physics Chinese Academy Of Scieneces:ASIPP) ในนครเหอเฝย ประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน – 26 กันยายน 2565 โดยได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎี การออกแบบเบื้องต้น การประกอบ การใช้งานเครื่องโทคาแมค และการแก้ปัญหาเบื้องต้น ก่อนจะถอดประกอบและเตรียมขนส่งมายังประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่จีนได้ให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นให้ทีมนักวิจัยของไทยดำเนินการเดินเครื่องทดสอบเครื่อง ทีที-1 ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่จีน ซึ่งทีมนักวิจัยของไทยก็สามารถทำการเดินเครื่องได้เองหลังฝึกอบรมเป็นเวลาสองเดือน จะเห็นได้ว่า นักวิจัยของไทยสามารถเรียนรู้รวดเร็วมาก ถึงแม้ว่าการควบคุมเครื่องจักรที่ซับซ้อนอย่างโทคาแมค และระบบเสริมต่างๆ จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียนรู้ได้ภายในเวลาอันสั้นก็ตาม

   ส่วน ระยะที่ 3 คือ การย้ายเครื่องกลับมาติดตั้งที่ประเทศไทย โดยจะทำการติดตั้งไว้ที่ สทน. จังหวัดนครนายก โดยตัวเครื่องโทคาแมคและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ได้เริ่มขนส่งมาทางเรือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 และคาดว่าจะมาถึงไทยและสามารถติดตั้งได้ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ซึ่งทาง ASIPP จะส่งคณะนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจีนเข้าร่วมสมทบและช่วยเหลือทีมนักวิจัยไทยในการประกอบและ เดินเครื่องดังกล่าว คาดว่าจะดำเนินโครงการแล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 จากนั้นจะเปิดให้นักวิจัยไทยเข้าทดสอบใช้งานเครื่องและทำการทดลองที่เกี่ยวกับพลาสมาฟิวชัน เพื่อยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมให้เกิดการสร้างและพัฒนานักวิจัยไทยทางด้านเทคโนโลยีฟิวชัน รวมถึงเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาเครื่องโทคาแมครุ่นต่อไปที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชันในอนาคต


   โครงการความร่วมมือ ไทย-จีน นี้ ถือว่าเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันวิจัย เครื่องแรกในประเทศไทย และเทียบได้ว่าเป็นการพัฒนา “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” ดวงแรกของอาเซียนได้เลยทีเดียว เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันวิจัย ทีที-1 จึงจะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้นักวิจัยในไทยได้ทำการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพลาสมาและฟิวชัน ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ทำงานด้านการวิจัยพลังงานฟิวชันไม่มากนัก จึงคาดหวังว่า เครื่องปฏิกรณ์โทคาแมค ทีที-1 จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยเข้าร่วมการวิจัยในแวดวงนี้มากขึ้น

   กลับมาพบกับสาระความรู้ด้านพลังงานกันได้ใหม่ในตอนหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ