ในปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุนึงที่ทำให้ทรัพยากรลดลงอย่างรวดเร็ว นั่นคือ รูปแบบการบริโภคที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานมากขึ้น และยังทำให้เกิดของเสียเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แม้จะมีการแสวงหาทรัพยากรส่วนที่ใช้แล้วหมดไป และมีการจัดการของเสียบางส่วนให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งของเสียที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ตกค้างและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนแก้ปัญหาด้านทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ โดยการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเกิดของเสีย จนท้ายที่สุดนำไปสู่การไม่มีของเสียเกิดขึ้น
ในอดีต ระบบการผลิตและการบริโภคมักเป็นรูบแบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) โดยเริ่มจากการนำทรัพยากรหรือวัตถุดิบมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคก็นำผลิตภัณฑ์มาใช้งาน เมื่อผลิตภัณฑ์หมดสภาพการใช้งานก็จะถูกทิ้งเป็นของเสีย
ต่อมาเมื่อโลกต้องเผชิญกับปัญหาการจัดการของเสียที่เพิ่มมากขึ้นและการลดลงของทรัพยากร จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบมาใช้เศรษฐกิจรีไซเคิล (Recycling Economy) โดยนำผลิตภัณฑ์ที่หมดสภาพการใช้งานกลับมาทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อลดการเกิดของเสียและลดปัญหาทรัพยากรลง แต่ก็ยังคงมีของเสียเกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมีการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น ซึ่งมีแนวคิดของการใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัสดุให้มากที่สุดด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น การใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การผลิตใหม่รวมถึงพัฒนารูปแบบธุรกิจ นวัตกรรม และมีการติดตามผล เพื่อจัดการให้ผลิตภัณฑ์และวัสดุหมุนเวียนอยู่ภายในระบบ ทำให้ลดการเกิดของเสียผลิตสินค้าได้มากขึ้นโดยใช้พลังงานน้อยลง
ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการและการทำงานให้เป็นรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น สามารถทำได้ผ่านแนวทางต่างๆ เช่น
- การรีไซเคิล (Recycle)
- การใช้ซ้ำ (Reuse)
- การปรับสภาพ (Recondition)
- การนำกลับคืนมาใหม่ (Recovery)
- การปรับปรุงใหม่ (Refurbish)
- การผลิตใหม่ (Remanufacture)
- การซ่อมแซม (Repair)
- การเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน (Repurpose)
กฟผ. ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น จึงได้นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในการดำเนินงานภายในองค์การ โดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสีย นำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอก มุ่งสู่การเป็นองค์การเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Organization) เพื่อให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ
กลับมาพบกับสาระดีๆ ได้ใหม่ในตอนหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ