ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals เรียกย่อ ๆ ว่า SDGs ว่าคืออะไร
หลังจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อปี 2015 องค์การสหประชาชาติก็ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ขึ้นที่มีชื่อว่า SDGs เพื่อมุ่งหวังที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน เช่น ความอดอยาก ความไม่เท่าเทียม การศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำ สภาวะโลกร้อน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมแนวคิดที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งมีแผนจะดำเนินการให้สำเร็จในปี 2030
โดย กฟผ. มีแผนการดำเนินการเพื่อให้ตอบรับกับเป้าหมาย SDGs นี้ ผ่านทางหลายๆ โครงการและกิจกรรมต่างๆ
เริ่มจากโครงการแรก การส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และเชื่อถือได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนและพลังงานรูปแบบใหม่ๆ มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าให้รองรับกับพลังงานรูปแบบใหม่ ให้ประชาชนทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึง
โครงการที่ 2 ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฟผ. ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตไฟฟ้า และกำหนดมาตรการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงส่งเสริมการปลูกป่ากับโครงการ “ปลูกป่า ล้านไร่”
โครงการที่ 3 ส่งเสริมการเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มโอกาสในทางธุรกิจ
โครงการที่ 4 เสริมสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่นต่อการจัดการความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคาม เพื่อรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจ เตรียมความพร้อมและรับมือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ให้ทันท่วงที
โครงการที่ 5 ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการจัดการของเสียอันตรายที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management) และการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างของโครงการนี้ก็คือ “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” จังหวัดลำปาง เป็นการร่วมมือระหว่าง กฟผ. ชุมชนอำเภอแม่เมาะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โครงการที่ 6 เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการดำเนินการบริหารจัดการ วางแผนงานให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจัดการเกี่ยวกับ ข้อกังวลอย่างเหมาะสม
โครงการที่ 7 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน กฟผ. ให้การสนับสนุนการจ้างงานในท้องถิ่น พัฒนาชุมชนโดยรอบสำนักงานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ และสนับสนุนการจัดการด้านชีวอนามัย ความปลอดภัยที่ดีในการทำงาน
และ โครงการที่ 8 การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร
ซึ่งทั้ง 8 โครงการที่ได้กล่าวมา เป็นการดำเนินการของ กฟผ. ซึ่งตรงตามเป้าหมายของ SDGs ถึง 12 หัวข้อ จากทั้งหมด 17 หัวข้อ ได้แก่เรื่อง การขจัดปัญหาความยากจนและความอดอยาก การผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน การทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก การใช้ทรัพยากรน้ำและใช้ประโยชน์ระบบนิเวศบนบกอย่างมีคุณค่า ให้ทุกคนได้เข้าถึงพลังงาน สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อน ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม
และการสร้างเมืองและตั้งถิ่นฐานอย่างปลอดภัย
และในปัจจุบัน กฟผ. ยังคงเดินหน้าพัฒนาองค์การอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ และเพื่อให้ประเทศของเรามีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง พร้อม ๆ ไปกับการดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้า การรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนค่ะ
SDGs ที่เกี่ยวข้องกับ กฟผ.
(1) การขจัดความยากจน
(2) การขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร
(3) การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน
(6) การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพร้อมใช้สำหรับทุกคน
(7) การให้ทุกคนได้เข้าถึงพลังงานที่ยั่งยืนได้ตามกำลังของคน
(8) ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
(9) ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและนวัตกรรม
(11) สร้างเมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ปลอดภัย
(12) สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
(13) ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
(15) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก
(16) ส่งเสริมสันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
แล้วกลับมาพบกับเรื่องราวสาระดี ๆ ทางด้านพลังงานกันได้ใหม่ในตอนหน้านะคะ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ