10-03-2566

คุยกรุบกริบ by Egat ตอนที่ 7 เรื่อง..กฟผ.-สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จัดแข่งผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ปี 2

   กฟผ. ร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยนายกสมาคมฯ หัวหน้าโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจในอนาคต และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา  ได้เปิดตัวโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี และเงินรางวัลมูลค่าสูงสุดรวม 450,000 บาท โดยการแข่งขันจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พค. 2566 ณ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี  (รอการอนุมัติอย่างเป็นทางการ)

   สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาบุคคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ควรต้องพัฒนาต่อยอด คือการพัฒนาบุคคลากรในประเทศให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต  สำหรับการจัดการแข่งขันในครั้งที่ 2 นี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 73 ทีม แบ่งเป็นสถาบันการศึกษา 58 ทีม และทีมประชาชนทั่วไป 15 ทีม ซึ่งทางสมาคมได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ  กฟผ.  กรมการขนส่งทางบก  สถาบันยานยนต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี  สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย  ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอีเลคทรอนิคส์  บ.อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด   บ.อินโนวาแพค จำกัด   และบ. โมโตอีวี จำกัด

   ในส่วนของกฟผ.นั้น  กฟผ.ได้ดำเนินภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายภาครัฐ  สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV  เป็นหนึ่งในมาตรการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก  ซึ่งตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30 %  ภายในปี 2573   สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ กฟผ. ได้ร่วมสนับสนุนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2  โดยเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์  สามารถนำมาขยายผลได้ รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงตามหลักวิศวกรรมและความปลอดภัย  ที่สามารถต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต  ตลอดจนเป็นการสร้างโมเดลทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นภายในประเทศ   ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และโมเดลธุรกิจ BCG  หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ 3 มิติ   ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต   ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2559 โดยได้พัฒนาเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นสูง จนนำไปสู่การติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2562 และต่อยอดใช้ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมอาชีพรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะในพื้นที่รอบ กฟผ. ลดการปล่อยมลพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน

   สำหรับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เป็นสมาคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ  ด้านเทคโนโลยี   และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน การการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยีในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย   มีสมาชิกที่มาจากทั้งภาคเอกชน  สถาบันการศึกษา  รัฐวิสาหกิจ  และบุคคลทั่วไป  ดำเนินนโยบายหลักคือสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน

 

                 …………..กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย EGAT for All……..