กฟผ. โดยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตรผู้ว่าการกฟผ. และ นายจันทะบูน สุกอาลูน ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจด้านธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และธุรกิจ smart energy solution ซึ่งผู้ว่าการกฟผ.ได้กล่าวว่า ประเทศไทย และสปป.ลาว ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ด้านพลังงานไฟฟ้ามาอย่างยาวนานเกือบ 60 ปี ทั้งการพัฒนาระบบส่ง โครงการผลิตไฟฟ้า การซื้อขายไฟฟ้า การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเทคนิควิศวกรรม งานวิชาการ งานพัฒนาบุคคลากรระหว่างหน่วยงาน โดยความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าของทั้ง 2 ประเทศ ช่วยส่งเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสานต่อความร่วมมือในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐวิสาหกิจของทั้งสองประเทศจะได้แบ่งปันศักยภาพ สร้างความร่วมมือด้านพลังงาน ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น กฟผ.จะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ ไม่เพียงแต่ความรู้ด้านเทคนิควิศวกรรม งานบำรุงรักษา งานโทรคมนาคม งานวิชาการ และงานพัฒนาบุคคลากร แต่ยังรวมไปถึงโอกาสในการพัฒนาระบบจัดการระบบไฟฟ้า smart energy solution ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ที่ไทยได้เริ่มเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ นำมาแลกเปลีjยนเรียนรู้กับสปป.ลาว เพื่อขยายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งกฟผ. พร้อมให้ความร่วมมือต่อไป
ทางด้านผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวได้กล่าวว่า หากทั้ง 2 องค์กรมีความร่วมมือทางธุรกิจ จะสามารถต่อยอดการดำเนินงานได้หลายด้าน อาทิ ระบบ fiber optic ซึ่งไทยและสปป.ลาว ใช้ระบบดังกล่าวทั้งในประเทศ และเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมถึงสปป.ลาวยังเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม และกัมพูชาด้วย จึงเชื่อว่าจะสามารถขยายเป็นธุรกิจด้านโทรคมนาคมร่วมกันได้ ส่วนธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษา รฟ. ปัจจุบัน สปป.ลาวมีเขื่อนประมาณ 80 แห่งทั่วประเทศ และมีอุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษารฟ.จะมีความต้องการสูง จึงเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมกันพัฒนาการดำเนินงานตามมาตรฐานสากล และพัฒนาบุคคลากรของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวด้วย สุดท้าย ในด้านของนวัตกรรมที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันพัฒนาต่อยอด โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จะนำไปสู่การศึกษารายละเอียดการดำเนินงานร่วมกันต่อไป
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะครอบคลุม 3 ด้านด้วยกัน คือ 1. ธุรกิจโทรคมนาคม โดยจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2. ธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และ 3. smart energy solution โดยจะแสวงหาพื้นที่ที่มีศักยภาพในสปป.ลาว ที่สามารถพัฒนาต่อยอดระบบดังกล่าวได้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีกรอบระยะเวลา 3 ปี โดยจะสามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศบ้านพี่เมืองน้องได้เป็นอย่างดี
……….กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยEGATFORALL……………...