ช่วงนี้บ้านเราเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วนะคะ มีฝนตกหนักตกชุกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้หลายๆพื้นทีมีน้ำท่วม เขื่อนบางแห่งทำหน้าที่รับน้ำไว้เป็นจำนวนมาก จนหลายๆคนมีความกังวลใจในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน วันนี้มีคำตอบมาฝากกันค่ะ
เขื่อนทุกๆเขื่อนของกฟผ.ทำหน้าที่เก็บกักน้ำที่มีปริมาณมากในหน้าฝน ไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน เ ป็นการช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ท้ายเขื่อน และน้ำที่กักเก็บไว้เหล่านี้ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค การชลประทาน รวมภึงการเกษตร รักษาระบบนิเวศน์ ผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งการปล่อยน้ำจะเป็นไปตามมติของคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยกฟผ.มีการวางแผนการระบายน้ำร่วมกับกรมชลประทาน โดยมีผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำ คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น และยังได้ใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำ เป็นแหล่งทำประมงน้ำจืด เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ สร้างรายได้ให้ชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
เขื่อนนั้นนับว่ามีประโยชน์มากมายดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้กฟผ.ต้องดูแลเขื่อนอย่างดีในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน เพื่อที่เขื่อนจะได้สามารถสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความปลอดภัย ซึ่งกฟผ. ได้ให้ความสำคัญในการดูแล ตรวจสอบ และบำรุงรักษาเขื่อนตามมาตรฐานสากลขององค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบจุดสำคัญๆ เช่น ตัวเขื่อน ลาดเขื่อน ตีนเขื่อนเป็นประจำ โดยเจ้าหน้าที่ประจำเขื่อน และมีการติดตั้งระบบตรวจสุขภาพเขื่อนแบบอัตโนมัติ เพื่อตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน เช่นการทรุดตัว การเคลื่อนตัว แรงดันน้ำในตัวเขื่อน และน้ำรั่วซึม ซึ่งถ้าหากมีความผิดปกติ ระบบจะมีการแจ้งเตือนความผิดปกติแก่เจ้าหน้าที่ทันที นอกจากนี้ก่อนเข้าฤดูฝน จะมีการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ และมีการทดสอบอุปกรณ์ เปิด-ปิดบานระบายน้ำของอาคารระบายน้ำต่างๆ เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนท้ายน้ำ และทุกๆ 2 ปี กฟผ.จะดำเนินการตรวจสอบ และประเมินความปลอดภัยของเขื่อน โดยคณะกรรมการตรวจสอบเขื่อนของกฟผ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนค่ะ
สำหรับในช่วงกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ พบการรั่วซึมผิดปกติ หรือกรณีฝนตกหนัก น้ำเข้าเขื่อนเร็วมาก กฟผ.จะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ หากพบว่ามีความผิดปกติก็จะเข้าดำเนินการแก้ไขโดยทันที
จะเห็นได้ว่ากฟผ.มีการตรวจสอบเขื่อนอยู่เป็นประจำ ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล ดังนั้นขอให้มั่นใจได้นะคะว่า เขื่อนทุกเขื่อนของกฟผ. มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย พร้อมอำนวยประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชนได้ต่อไปอย่างแน่นอนค่ะ