จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับกฟผ. จัดกิจกรรมตัดหญ้าเนเปียร์และส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “ การศึกษาศักยภาพการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ชุมชนรอบกฟผ.ทับสะแก เพื่อเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแบบ CSIR ขนาด 3 เมกกะวัตต์ “ ซึ่งเป็นโครงการที่ ม.ขอนแก่น และม.นเรศวร ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกฟผ. โ ดยทางนาย กิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้กล่าวว่า ในปัจจุบันจังหวัดมีการส่งเสริมให้เกษตรกรมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ผ่านการรับรองคุณภาพ และมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า โดยปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานแทน ซึ่งการปลูกพืชพลังงานถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกร ที่นอกจากช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนแล้ว ยังมีประโยชน์ในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และยังเป็นการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบาย Energy for all พลังงานเพื่อทุกคน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และกฟผ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษา และพัฒนาโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทน ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ สามารถเข้าถึงพลังงาน และมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพต้นแบบ ในพื้นที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงจากพืชพลังงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพการปลูกพืชพลังงานชนิดต่างๆ ในพื้นที่ชุมชนรอบกฟผ.ทับสะแก ที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังผลิต 3 เมกกะวัตต์ กฟผ. จึงสนับสนุนทุนในการวิจัยให้กับ ม.ขอนแก่น และม.นเรศวร เพื่อศึกษาศักยภาพการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยคัดเลือกพันธุ์หญ้าเนเปียร์ 4 ชนิด คือ ปากช่อง 1 – รากแก้ว – บาน่า และแคระโดยจะนำผลการวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง “ งานวิจัยต้นแบบเชิงธุรกิจโรงไฟฟ้าชุมชน : กรณีศึกษาโรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก “ ของกฟผ.ต่อไป ซึ่งขณะนี้การศึกษาวิจัยได้ดำเนินการมาจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวหญ้าเนเปียร์ที่มีอายุ 60 วัน เพื่อนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการแล้ว และหญ้าเนปียร์ที่เหลือจากส่งห้องปฏิบัติการในครั้งนี้ จะถูกนำส่งให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ พืชที่มีความเหมาะสมที่จะนำมาผลิตพลังงานทดแทนคือ ต้องมีปริมาณมากเพียงพอ ให้ผลผลิตในสัดส่วนสูง หาได้ง่าย ราคาถูก ไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร ไม่เป็นพิษต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้มีการศึกษาศักยภาพพืชพลังงาน ให้เป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลในระดับที่ใช้งานจริงได้ ซึ่งจะสามารถเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกในอนาคต
…..กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยEGATFORALL………………..