บ้านเรามีกังหันลมขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม อยู่ที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถเข้ามาเช็คอิน และถ่ายภาพกับกังหันลมได้ตลอดทั้งปี และวันนี้จะมาเล่าเรื่องเบื้องหลังภารกิจโรยตัวซ่อมใบพัดกังหันลมของผู้ปฏิบัติงานกฟผ. ให้คุณผู้ฟังได้รับทราบกันนะคะ
โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ประกอบไปด้วยกังหันลมทั้งสิ้น 14 ต้น ความสูงต้นละ 94 เมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 26.5 เมกกะวัตต์ และเพื่อให้กังหันลมมีความพร้อมจ่ายตลอดเวลา กฟผ. จึงได้มีการดูแลบำรุงรักษาเป็นประจำ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ทีมด้านไฟฟ้า จากฝ่ายบำรุงรักษา และทีมด้านเครื่องกลของกฟผ. จะปฏิบัติงานบำรุงรักษาตามวาระร่วมกันปีละ 2 ครั้ง และบางครั้งมีที่มีการปฏิบัตภารกิจเพิ่มเติม เช่น การโรยตัวซ่อมใบกังหันพัดลม ก็ต้องประสานความร่วมมือกับทีม HOT LINE ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาสนับสนุนในภารกิจนี้ด้วย
นอกจากทักษะด้านงานช่างที่ผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษากังหันลมทุกคนต้องเชี่ยวชาญแล้ว ยังต้องผ่านการทดสอบการทำงานบนที่สูง รวมถึงในภารกิจโรยตัวซ่อมใบพัดกังหันลม จะต้องมีการฝึกอบรมการซ่อมใบพัดกังหันลม การฝึกอบรมการทำงานบนเชือก รวมถึงการช่วยเหลือกันในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมอีกด้วย โดยก่อนจะเริ่มทำงานทุกครั้งจะต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นอันดับแรก ต้องเช็คสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงลม ที่ต้องมีความแรงไม่เกิน 10 เมตร/วินาที ต้องไม่มีไฟฟ้าผ่าในระยะ 80 กม. และไม่มีฝนตกในพื้นที่เท่านั้นจึงสามารถปฏิบัติงานได้
เมื่อสภาพอากาศพร้อม สภาพจิตใจและร่างกายพร้อม ทีมงานบำรุงรักษากังหันลมก็จะประชุมวางแผน และแบ่งหน้าที่การทำงานในวันนั้น จากนั้นจะสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน สำหรับการโรยตัวซ่อมใบพัดกังหันลมในแต่ละครั้ง จะประกอบไปด้วยทีมงาน 3 ทีม คือ ทีมซ่อมใบพัดกังหันลม จำนวน 2 คน ทีม support ซึ่งจะ standby อยู่ด้านบนกังหันลม จำนวน 3 คน และทีม support ภาคพื้นดินอีก 3 คน เพื่อสนับสนุนการทำงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งคอยระมัดระวังด้านความปลอดภัย และพร้อมให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การทำงานนอกจากจะต้องทำงานภายใต้ความสูงเสียดฟ้าแล้ว ยังต้องเผชิญความร้อนจากสภาพอากาศอีกด้วย เพื่อความปลอดภัย จึงปฏิบัติงานครั้งละไม่เกิน 2 ชม.เท่านั้น สำหรับการโรยตัวทำได้ 2 วิธี คือ โรยตัวลงมาจากด้านบนของกังหันลม หรือขึ้นรอกกว้านสวิงไฟฟ้าจากด้านล่าง ซึ่งทีมงานจะพิจารณาจุดที่จะซ่อมก่อน โดยทีมสนับสนุนด้านบนกังหันลมต้องขึ้นลิฟท์ขนาดเล็กภายในกังหันลมเพื่อทำหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการโรยตัวก่อน ส่วนทีมสนับสนุนภาคพื้นดินก็ต้องช่วยเตรียมความพร้อมและรอรับเชือกโรยตัวจากทีมด้านบน แล้วจึงขึ้นซ่อมกังหันลม โดยทีมสนับสนุนทั้ง 2 ทีมจะเตรียมพร้อมคอยช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับการซ่อมใบพัด 3 ใบ ใน 1 ต้น จะใช้เวลาประมาณ 15 วัน บนความสูง 94 เมตรหลังจากนั้นใบพัดก็จะกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม กลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย และมุ่งสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยทุกคนมีไฟฟ้าใช้ในแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
…………...กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยEGATFORALL………………..