29-04-2558

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

 

เมี่ยง

ท่านผู้อ่านคงเคยกินของกินเล่นอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเมี่ยง กันมาบ้างแล้ว  คำว่า เมี่ยง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 เก็บความไว้ว่า เมี่ยง หมายถึง ชื่อต้นไม้ขนาดเล็กชนิดหนึ่งในวงค์คาเมเลีย สิเนนสิส  ขึ้นตามเขาในภาคเหนือเขตร้อน ใบนำมาหมักใช้เคี้ยวหรือ อม

อีกความหมายหนึ่งของเมี่ยง ก็คือ ของกินเล่นที่ใช้ใบไม้บางชนิด เช่น ใบชาหมัก ใบชะพลู ใบทองหลาง ห่อเครื่อง มีถั่วลิสง มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง หัวหอม ขิง มะนาว เป็นต้น ซึ่งมีหลายชนิด เรียกชื่อต่างๆกัน เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม  แต่ละชนิดของเมี่ยงก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง มาทำความรู้จักเมี่ยงแต่ละชนิดกันให้ดียิ่งขึ้น เริ่มจากเมี่ยงคำ เวลากินใช้ใบทองหลาง หรือใบชะพลู ห่อด้วยถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง มะพร้าวคั่ว มะนาว หัวหอม ขิง พริกขี้หนู ราดด้วยน้ำเมี่ยงที่ทำจากน้ำตาลปีบเคี่ยวใส่กะปิเล็กน้อย น้ำปลา ข่าป่นละเอียด ตะไคร้หั่นฝอย และกุ้งแห้งป่น

เมี่ยงลาว เป็นเมี่ยงที่ใช้ใบผักกาดดองห่อไส้เป็นคำๆ ไส้ทำด้วยหมูสับผัดเคล้ากับกุ้งแห้งป่น ถั่วลิสงดำ ขิง น้ำส้มมะขาม น้ำตาล น้ำปลา ปรุงให้มีรสหวานนำ เค็มตาม และเปรี้ยวนิดหน่อย แล้วตักขึ้นเคล้าด้วยหอมเจียว กระเทียมเจียว กินกับข้าวตังทอดหรือข้าวเกรียบกุ้งทอดและสุดท้ายคือ เมี่ยงส้ม ทำด้วยมะพร้าวขูดคั่ว กวนกับน้ำตาลปึกผสมถั่วลิสงตำพร้อมด้วยหอมแดง ปรุงให้มีรสเค็มหวาน เมื่อได้ที่โรยใบมะกรูดหั่นฝอย กินแกมกับผักกาดหอม หรือใบทองหลางและผลไม้มีรสเปรี้ยว เช่น ส้มโอ มะม่วงดิบ มะปรางดิบ ฯลฯ

ลักษณนามช้าง

ท่านที่ติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำคงจะทราบข่าวว่าในช่วงปีใหม่และวันเด็กที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ถูกช้างป่าออกมาขวางถนนบ้าง หรือทำอันตรายรถยนต์ของนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้สื่อข่าวทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ต่างก็พากันเสนอข่าวนี้เพื่อเตือนภัยนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังในการเดินทางไปเขาใหญ่

ช้าง แต่เดิมเราเคยรู้กันว่า ลักษณนามของช้าง เรียกว่าเชือก สมัยเป็นนักเรียนชั้นประถม หรือมัธยม ครูก็มักออกข้อสอบถามว่า ลักษณนามของช้างเรียกว่า อะไร คำตอบคือ เชือก ที่จริงแล้ว ลักษณนามของช้าง ไม่ได้มีเพียงคำว่า เชือก แต่มีคำว่า ตัว คำว่า ช้าง อีกด้วย ซึ่งแต่ละคำมีที่ใช้แตกต่างกัน  ถ้าเป็นช้างป่า เราเรียกว่า ตัว  เช่น ช้างป่าหลายกำลังอาละวาดนักท่องเที่ยว   ถ้าเป็นช้างบ้าน เราเรียกว่า เชือก  เขาเลี้ยงช้างอยู่หลายเชือก  ส่วนช้างที่ขึ้นระวางแล้ว เราเรียกว่า ช้าง

คำว่าขึ้นระวาง หมายถึง เข้าประจำการ หรือ เข้าทำเนียบ ใช้แก่พาหนะของหลวง เช่น ช้าง ม้า และเรือ

ชื่อเรียกช้าง

ได้กล่าวถึงลักษณนามของช้างไปแล้วว่า ช้างมีคำลักษณนามเรียกได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับว่าเป็นช้างบ้าน ช้างป่า หรือช้างขึ้นระวาง  ครั้งนี้ก็มีเรื่องของช้างมานำเสนอกันอีก เพราะช้างมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ตัวผู้เรียกชื่ออย่างหนึ่ง ตัวเมียเรียกอีกอย่างหนึ่ง

ช้างตัวผู้ เรียกว่า ช้างพลาย แต่ก็ยังมีชื่อเรียกตามลักษณะที่แตกต่างกันไปอีกด้วย เช่น ช้างสีดอ หรือช้างงวง หรือ ช้างนรการ คือช้างที่ไม่มีงา หรือมีงาสั้น ส่วนช้างตัวเมีย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช้างพัง

ส่วนช้างที่เป็นหัวหน้าโขลง เรียกว่า ช้างแม่แปรก (ปะแหรก) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ช้างแม่หนัก ซึ่งเป็นคำเรียกอย่างสุภาพ ส่วนช้างเมื่อรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มๆ เราเรียกว่า โขลง ไม่เรียกว่า ฝูง หรือ ครอก หรืออื่นใดทั้งสิ้น เรียก โขลง เพียงอย่างเดียว