กระดูกแขวนคอ
ท่านผู้อ่านคงเคยกินของกินเล่นอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเมี่ยง กันมาบ้างแล้ว คำว่า เมี่ยง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 เก็บความไว้ว่า เมี่ยง หมายถึง ชื่อต้นไม้ขนาดเล็กชนิดหนึ่งในวงค์คาเมเลีย สิเนนสิส ขึ้นตามเขาในภาคเหนือเขตร้อน ใบนำมาหมักใช้เคี้ยวหรือ อม
อีกความหมายหนึ่งของเมี่ยง ก็คือ ของกินเล่นที่ใช้ใบไม้บางชนิด เช่น ใบชาหมัก ใบชะพลู ใบทองหลาง ห่อเครื่อง มีถั่วลิสง มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง หัวหอม ขิง มะนาว เป็นต้น ซึ่งมีหลายชนิด เรียกชื่อต่างๆกัน เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม แต่ละชนิดของเมี่ยงก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง มาทำความรู้จักเมี่ยงแต่ละชนิดกันให้ดียิ่งขึ้น เริ่มจากเมี่ยงคำ เวลากินใช้ใบทองหลาง หรือใบชะพลู ห่อด้วยถั่วลิสงคั่ว กุ้งแห้ง มะพร้าวคั่ว มะนาว หัวหอม ขิง พริกขี้หนู ราดด้วยน้ำเมี่ยงที่ทำจากน้ำตาลปีบเคี่ยวใส่กะปิเล็กน้อย น้ำปลา ข่าป่นละเอียด ตะไคร้หั่นฝอย และกุ้งแห้งป่น
เมี่ยงลาว เป็นเมี่ยงที่ใช้ใบผักกาดดองห่อไส้เป็นคำๆ ไส้ทำด้วยหมูสับผัดเคล้ากับกุ้งแห้งป่น ถั่วลิสงดำ ขิง น้ำส้มมะขาม น้ำตาล น้ำปลา ปรุงให้มีรสหวานนำ เค็มตาม และเปรี้ยวนิดหน่อย แล้วตักขึ้นเคล้าด้วยหอมเจียว กระเทียมเจียว กินกับข้าวตังทอดหรือข้าวเกรียบกุ้งทอดและสุดท้ายคือ เมี่ยงส้ม ทำด้วยมะพร้าวขูดคั่ว กวนกับน้ำตาลปึกผสมถั่วลิสงตำพร้อมด้วยหอมแดง ปรุงให้มีรสเค็มหวาน เมื่อได้ที่โรยใบมะกรูดหั่นฝอย กินแกมกับผักกาดหอม หรือใบทองหลางและผลไม้มีรสเปรี้ยว เช่น ส้มโอ มะม่วงดิบ มะปรางดิบ ฯลฯ
คุณหญิง คุณนาย
คำว่า คุณหญิง เป็นคำนำหน้าชื่อสตรีที่สมรสแล้วและได้รับพระราชทานครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้า (อ่านว่า จะตุตะถะ) ถึงชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ถ้าหากสตรีผู้นั้นยังไม่ได้สมรส จะเรียกว่า คุณ แล้วตามด้วยชื่อ เช่น คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ในสมัยโบราณ คำว่าคุณหญิงเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อสตรีที่เป็นภรรยาเอกของพระยา นอกจากนี้คำว่าคุณหญิง ยังเป็นภาษาปากที่ใช้เรียกหม่อมราชวงศ์ที่เป็นหญิงอีกด้วย เช่น หม่อมราชวงศ์สายสิงห์ เราก็เรียกท่านว่า คุณหญิงสายสิงห์ หรือใช้เป็นคำเรียกแทนสรรพนาม เช่น คุณหญิงท่านกล่าวว่า.....
ส่วนคำว่า คุณนาย เป็นคำยกย่องที่ใช้เรียกภรรยาข้าราชการชั้นสัญญาบัตรที่ยังมิได้เป็นคุณหญิง ในปัจจุบันนี้ใช้เรียกยกย่องสตรีทั่วๆไปที่ผู้เรียกนับถือ เช่น คนรับใช้เรียกภรรยาของเจ้าของบ้านว่าคุณนาย อย่างนี้เป็นต้น
ขับเคี่ยว กับ เคี่ยวเข็ญ
คำในภาษาไทยจำนวนไม่น้อยที่มีรูปศัพท์หรือเสียงคล้ายๆกัน แต่ความหมายแตกต่างกันจนไม่สามารถใช้แทนกันได้ ซึ่งหลายครั้งก็มีผู้ใช้คำผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้นว่า คำว่า ขับเคี่ยว กับ เคี่ยวเข็ญ
ขับเคี่ยว หมายถึง ต่อสู้ หรือ แข่งขันกันไปจนถึงที่สุด หรือจนแพ้ชนะไปข้างหนึ่ง เช่น กว่าจะได้ผู้ชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันต่างพากันขับเคี่ยวชนิดไม่มีใครยอมใคร
ส่วนเคี่ยวเข็ญ หมายถึง บีบบังคับ หรือ บีบคั้น เช่น เธอจะเคี่ยวเข็ญลูกไปถึงไหน เท่านี้ยังดีไม่พออีกหรือ หรือ ฉันไม่ชอบเคี่ยวเข็ญใคร อยากทำอะไรก็เชิญ
แม้ขับเคี่ยว และ เคี่ยวเข็ญ จะมีคำว่า เคี่ยว อยู่ด้วย แต่ก็มีความหมายที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะใช้คำไหนในความหมายใดต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน จะได้ไม่ผิดความหมาย
แซะ
แซะ เป็นได้ทั้งคำกริยา และคำนาม แซะ เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง เอาเครื่องมือแบนๆ เช่น เหล็กโป๊วสี แซะไปรอบๆแล้วช้อนขึ้นให้หลุดล่อนจากที่เดิม เช่น แซะขนมเบื้อง ไม่ว่าจะเป็นขนมเบื้องไทย หรือขนมเบื้องญวน ก็ต้องใช้วิธีแซะ ทั้งนั้น แซะ ยังถูกนำมาใช้ในความหมายว่า เร่งรัด เช่น เขาเป็นคนเฉื่อยชา ต้องคอยแซะให้ทำงานอยู่เสมอๆ
แซะ เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง กล้วยไม้ชนิดหนึ่ง มีกลีบดอกสีขาว กลีบกระเป๋าสีเขียวอ่อนถึงเหลือง มีกลิ่นหอม
แซะเมื่อเติมคำว่า กระ เข้าไปข้างหน้า เป็น กระแซะ เป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่ หมายถึง ขยับกระทบเข้าไป เช่น ขยับตัวกระแซะเข้า หรือ พูดเลียบเคียงกระแซะเข้าไป คำว่า กระแซะนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเคยฟังเพลง กระแซะเข้ามาสิ ของนักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่ล่วงลับไปแล้ว ความหมายก็คือ ให้ขยับตัวเข้ามาสินั่นเอง