ภาษาไทยใช้ให้ถูก แพ
หลายๆคนคงมีโอกาสไปล่องแพกันมาแล้วนะคะ แพ ก็คือ ไม้ไผ่หรือซุงเป็นต้นที่ผูกมัดเรียงติดกันมากๆ สำหรับใช้เป็นพาหนะทางน้ำ หรืออาจจะล่องมาขายก็ได้ ดังนั้น อะไรก็ตามที่มีลักษณะที่ติดเนื่องกันเป็นตับเช่นนั้น เราก็จะเรียกว่า แพ เช่น ธูปแพ เทียนแพ สวะลอยเป็นแพ หรือ เรือนที่ตั้งอยู่บนแพในน้ำเราก็เรียกว่า เรือนแพ แพ เป็นลักษณนามเรียกสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ธูป 3 แพ ข้าวเม่าทอด 3 แพ
นอกจากแพที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว ยังมีแพอีกประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายแพขนาดใหญ่ แต่เป็นเรือบรรทุกคนโดยสาร รถยนต์ หรือสิ่งของข้ามฟาก เราเรียกว่า แพขนานยนต์ และแพอีกชนิดหนึ่งที่ทำจากไม้ไผ่หลายๆลำมามัดรวมกันเป็นแพกลมๆ เรียกว่า แพลูกบวบ
คำว่า แพ ยังถูกนำมาใช้ในสำนวนว่า แพแตก มีความหมายว่า ลักษณะที่ครอบครัว ญาติพี่น้องกระจัดกระจายแยกย้ายกันไป เพราะหัวหน้าครอบครัวหรือผู้เป็นหลักเป็นประธานประสบความวิบัติหรือเสียชีวิตไป ตัวอย่าง สิ้นพ่อไปอีกคนพวกเราก็เหมือนกับแพแตก อย่างนี้เป็นต้น
ภาษาไทยใช้ให้ถูก ไถ
ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีพิธีสำคัญพิธีหนึ่งคือ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งผู้ที่ติดตามการถ่ายทอดสดพระราชพิธีนี้ย่อมจะได้ยินเสียงได้เห็นภาพที่พระยาแรกนาทำการไถนา ผู้บรรยายก็จะบรรยายว่า พระยาแรกนาทำการไถดะ ไถแปร และไถกลบ ถ้าหากผู้ฟังผู้ชมเป็นเกษตรกรทำนาเป็นอาชีพ ก็ย่อมจะรู้จักกับคำว่า ไถดะ ไถแปร ได้เป็นอย่างดี แต่เชื่อว่ายังมีอีกมากที่ไม่รู้จักว่า ไถดะ ไถแปร ไถกลบ เป็นอย่างไร
มารู้จักคำว่า ไถ กันก่อน ไถ เป็นได้ทั้งคำนาม และคำกริยา ไถ เป็นคำนามหมายถึงเครื่องมือที่ใช้ในการทำนา ประกอบไปด้วยคันไถ หางยาม หัวหมูและ ผาลไถ ไถ เป็นคำกริยาหมายถึงอาการที่ลากเครื่องมือที่เรียกว่าไถไปตามดินให้ดินซุย เรียกว่าไถ หรือ ไถนา ครั้นเมื่อจะลงมือทำนาหว่าน ชาวนาจะไถดะครั้งหนึ่งก่อน คือไถตะลุยไปเป็นแนวยาวเพื่อพลิกหน้าดินกลับเอาข้างล่างขึ้นมา หลังจากนั้นจึงจะไถแปร คือ ไถขวางกับแนวที่ไถดะไว้ ในตอนนี้ชาวนาจะเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่านลงให้ทั่ว ต่อจากนั้นจะไถกลบ คือไถให้ดินปิดทับเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านลงไป
ต่อไปหากมีโอกาสได้ชมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ท่านผู้อ่านก็คงเข้าใจในคำว่า ไถดะ ไถแปร และไถกลบ กันเป็นอย่างดี