หลายครั้งที่เราต้องประสบกับอุบัติเหตุในครัวเรือนแบบไม่คาดคิดมาก่อน เช่น มีดบาด หกล้ม น้ำร้อนลวก เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องของร้อนลวกมือ หรือที่อื่นๆ ทำให้เกิดเป็นบาดแผลจากความร้อน พบได้ บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนพอทนได้ และค่อยๆหายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก มักจะมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้ทุพพลภาพหรือตายได้ ส่วนสาเหตุนั้น มักเกิดจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประมาท และที่พบบ่อยคือ จากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การทำอาหาร โดนน้ำมันร้อนๆ ในกระทะกระเด็นใส่ ต้มน้ำ อุ่นอาหาร แล้วยกโดนส่วนที่ร้อน หรือรีดผ้า เกิดเตารีดร้อนโดนผิวหนัง เป็นต้น
ความรุนแรงของบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ขึ้นอยู่กับ ขนาด ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล ตัวอย่างเช่น
1. ขนาดของแผล ถ้าเป็นบริเวณกว้าง จะมีอันตรายกว่าแผลขนาดเล็ก อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำโปรตีนและเกลือแร่ถึงกับเกิดภาวะช็อกได้ และอาจมีโอกาสติดเชื้อถึงขั้นโลหิตเป็นพิษและถึงตายได้ ซึ่งการประเมินขนาดแผล ดูจากความกว้างของแผล นิยมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย วิธีประเมินเบื้องต้น คือ ถ้าแผลขนาดกว้างหนึ่งผ่ามือของผู้ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คิดเป็น 1 % ของผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าแผลมีขนาดกว้าง 10 ฝ่ามือ คิดเป็น 10 % ของผิวหนังทั่วร่างกาย
2. ความลึกของแผล โดยปกติผิวหนังมี 2 ชั้น คือ ชั้น หนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ เราแบ่งระดับของบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
2.1 ระดับที่ 1 บาดแผลจะมีลักษณะแดง บวมเล็กน้อย และปวดแสบปวดร้อน ไม่มีตุ่มพองหรือหนังหลุดลอก มีลักษณะแบบเดียวกับรอยแดดเผา ระดับนี้ มีการทำลายของเซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังกำพร้าชั้นในยังไม่ถูกทำลาย ผิวหนังสามารถเจริญขึ้นมาแทนที่ส่วนชั้นนอกได้ จึงมีโอกาสหายได้สนิท และไม่มีแผลเป็น การดูแลบาดแผลระดับนี้ คือ เมื่อได้รับบาดเจ็บ ให้ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาที่สะอาด แล้วทายาแผลชนิดครีมสำหรับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อาจปิดแผลไว้พอหลวมเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก แต่ไม่ควรปิดจนแผลอับชื้น
2.2 ระดับที่ 2 บาดแผลจะมีลักษณะแดงและพุพอง เป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กและใหญ่ ผิวหนังอาจหลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดงๆ มีน้ำเหลืองซึม มีอาการเจ็บปวดมากอาจทำให้สูญเสียน้ำ โปรตีน เกลือแร่ และติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากมีการทำลายของหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด และหนังแท้ส่วนที่อยู่ตื้นๆ (ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและไม่เกิดแผลเป็น ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ ก็ทำให้เกิดแผลเป็นได้ การดูแลบาดแผลระดับนี้ เช่นเดียวกับระดับที่ 1 คือล้างทำความสะอาดแผล แล้วทายาภายนอก ไม่ควรเจาะตุ่มน้ำที่พุพอง เพราะอาจเกิดการติดเชื้อและแผลหายยาก โดยปกติแผลจะหายประมาณ 3-6 สัปดาห์
2.3 ระดับที่ 3 บาดแผล ผิวหนังทั้งชั้นหนังกำพร้า และหนังแท้จะหลุดลอกเป็นเนื้อแดงๆ หรือแดงสลับขาว หรือไหม้เกรียม มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต เป็นบาดแผลที่รุนแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำหรือติดเชื้อรุนแรงได้ ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด
ที่บาดแผล เนื่องจากมีการทำลายของหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อ รูขุมขนและเซลล์ประสาท การดูแลบาดแผลระดับนี้ เช่นเดียวกับระดับที่ 1 และ 2 คือ การทำความสะอาดแผล และทายาภายนอก แต่หากแพทย์ประเมินแล้ว เห็นว่า บาดแผลทีการทำลายของชั้นผิวหนังมากจนไม่สามารถฟื้นหายได้ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาและดูแลโดยแพทย์เท่านั้น
โดยสรุปเรื่องการดูแลแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ก็คือ เมื่อได้รับบาดเจ็บ ให้ล้างทำความสะอาดแผล และให้การดูแลแผลตามระดับความรุนแรงของแผล จากนั้นทำการปิดแผล ซึ่งปัจจุบันมีวัสดุปิดแผลหลากหลายผลิตภัณฑ์ โดยเลือกใช้ให้เหมาะสม ส่วนยาทาแผลที่ใช้สำหรับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก จะเป็นชนิดครีม เช่น 1% คลอแรมฟินีคอล (chloramphenicol ointment) หรือซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (silver sulfadiazine) โดยก่อนทายาต้องล้างแผลก่อน และควรทายาบ่อยๆ วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อไม่ให้แผลแห้ง แต่ต้องระวังอย่าให้ยาเข้าตา ข้อแนะนำอีกอย่างคือ ห้ามใช้ยาสีฟันหรือครีมอื่นใด ชะโลมบนแผล เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้นค่ะ
ขอบคุณบทความจาก http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=6332
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก https://goo.gl/EY0c7Q