ภาษาไทยใช้ให้ถูก ชินบัญชร
ได้ฟังข่าวจากทางสถานีวิทยุแห่งชาติ มีผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่กำลังจะมาถึงในไม่อีกกี่วันข้างหน้านี้แล้ว ผู้ใหญ่ท่านนั้นได้กล่าวถึงการสวดพระคาถาชินบัญชร (ชินนะบันชอน) ซึ่งท่านออกเสียงว่า ชิน – บัน – ชอน ฟังแล้ว คิดในใจว่าต้องนำมาบอกกล่าวเล่าสู่ท่านผู้อ่านสักหน่อย
พระคาถาชินบัญชร อ่านได้ว่า ชินะบันชอน หรือ ชินนะบันชอนก็ได้ เป็นหนึ่งในบท
สวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมสวดมากที่สุด สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น และเป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ค่ะ
คำว่า ชินบัญชร มาจาก ชิน ซึ่งแปลว่า ผู้ชนะ อันหมายถึงพระพุทธเจ้า และ คำว่า บัญชรซึ่งแปลว่า กรง ลูกกรง ซี่กรง รวมกันเป็น ชินบัญชร ซึ่งเป็นประดุจแผงเหล็กหรือเกราะเพชรที่แข็งแรง สามารถป้องกัน ภัยอันตรายและศัตรูหมู่มารทั้งปวงได้ค่ะ
ภาษาไทยใช้ให้ถูก ลักษณะของรส
ถ้ากล่าวถึงรสชาติของอาหารที่เรารู้จักกันดี ก็คงหนีไม่พ้น รสหวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด ขม หรือ จืด ซึ่งรสเหล่านี้เมื่อมาผสมกันอย่างลงตัวแล้ว ก็จะทำให้อาหารมีรสอร่อย ที่เรียกว่า รสกลมกล่อม แต่รสที่ไม่กลมกล่อมเนื่องจากเครื่องปรุงไม่ถูกส่วน ก็อาจจะมีรสที่เรียกว่า ปร่า เช่น แกงถ้วยนี้รสชาติปร่ายังไงไม่รู้ จากรสปร่า ก็มาถึงรสกร่อย กร่อย คือไม่จืดสนิทหรือไม่หวานสนิทเพราะมีรสเค็มเจือ เช่น ทำไมน้ำในแก้วนี้จึงมีรสกร่อยล่ะ ต่อมา คือ รสฝาด เป็นรสที่ทำให้ฝืดคอ น้ำลายแห้ง เช่น มะขามเทศฝักนี้ฝาดจริงๆ หรือ มะม่วงดิบทั้งเปรี้ยวทั้งฝาดใครจะไปกินได้ อีกรสหนึ่งเป็นรสที่ไม่อร่อยเลย คือ รสเฝื่อนค่ะ รสเฝื่อน คือ รสที่เจือฝาดและขื่น เช่น น้ำบาดาลบ่อนี้มีรสเฝื่อนมาก ไม่เหมาะเอามาทำน้ำดื่มหรอก จากรสเฝื่อน มาถึงรสขื่น รสขื่น เป็นรสที่ทำให้ฝืดคอไม่ชวนกิน เช่น หน่อไม้มีรสขื่น ส่วนคำว่าชืด หมายถึง ไม่มีรสชาติ เช่น เนื้อสัตว์แช่ตู้เย็นไว้นานจนชืด คำว่า ชืด ยังใช้ประกอบกับคำ จืด เป็น จืดชืด หมายถึง จืดสนิท ไม่มีรสชาติอะไรเลยค่ะ