22-03-2559

ภาษาไทยใช้ให้ถูก "หยักศก" ,"ทำซาก" ,"สับปะรด"

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  หยักศก

ได้ยินได้ฟังพิธีกรรายทีวีดาวเทียมผู้หนึ่งบรรยายถึงลักษณะของนักแสดงหญิงคนหนึ่งว่ามีเส้นผมหยักโศก  นอกจากนี้ก็ยังเคยได้ยินใครต่อใครพูดถึงคนที่มีเส้นผมหยิกว่า ผมหยักโศก  ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมหยิกแล้วมันจะโศกที่ตรงไหน  อันที่จริง ผู้ที่มีผมหยิกน้อยๆหรือหยักเป็นลอน เราเรียกว่า หยักศก ค่ะ

ขอย้ำว่า หยักศก  ไม่ใช่ หยักโศก  ศก แปลว่า ผม  หยักศก ก็คือ ผมหยัก หรือ หยิกน้อยๆ   เช่นเดียวกันกับคำว่า สีโอลด์โรส  คนมักจะพูดว่า สีโอรส หรือสีโอโรส ซึ่งก็เป็นการพูดผิดเช่นกัน  โอลด์โรส มาจากคำภาษาอังกฤษ  โอลด์ ก็คือ  OLD  แปลว่า แก่ หรือ เก่า  โรส ก็มาจากคำว่า Rose  แปลว่า กุหลาบ  Rose ในที่นี้หมายถึง กุหลาบสีชมพู กุหลาบสีชมพูเมื่อบานหลายวันแล้วก็จะมีสีคล้ำขึ้นเป็นสีชมพูคล้ำ  แต่ตามความคิดของคนไทยเห็นว่า สีโอลด์โรส คือ สีชมพูอมส้ม ค่ะ เมื่อทราบกันเช่นนี้แล้วต่อไปถ้าจะบอกว่าใครมีผมหยักเป็นลอน ก็ต้องพูดว่า ผมหยักศก และถ้าจะเรียกชื่อสีชมพูอมส้ม ก็ต้องเรียกว่า สีโอลด์โรส จึงจะถูกต้องค่ะ

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  ทำซาก

ถ้าพูดถึงคำว่า ซาก ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงนึกภาพออกว่า เป็นร่างของคนหรือสัตว์ที่ตายจนโทรม เหลือแต่เค้า หรือ สิ่งก่อสร้างที่ปรักหักพังแล้วเหลือแต่เค้า  เช่น ไฟไหม้ชุมชนแออัดจนเหลือแต่ซาก หรือ นักสำรวจขุดพบซากสัตว์โบราณ เป็นต้น
ก็เป็นที่เข้าใจแล้วนะคะว่า ซาก คือ สัตว์ หรือ พืชที่ตายนานแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ หรือ เป็นสิ่งไร้ค่า  ยกเว้นแต่ซากดึกดำบรรพ์ที่ยังมีคุณค่าที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เช่น ซากไดโนเสาร์ เป็นต้น  ดังนั้น คนที่ทำตัวไร้ประโยชน์  วัน ๆ เอาแต่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ไม่ช่วยอะไร จึงมีคำกล่าวว่า  ทำซาก คือทำตัวไร้ประโยชน์ เช่น จะมายืนทำซากอยู่ทำไม ช่วยคนอื่นเขาหยิบจับอะไรบ้างสิ  หรือ  จะพูดอะไรก็ไม่พูด ยืนทำซากอยู่ได้ เป็นต้น 
ทำซาก เป็นคำที่ใช้ว่ากล่าวเปรียบเปรย เชิงตำหนิติเตียน ความหมายเป็นไปในทางลบค่ะ 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  สับปะรด

สับปะรด คำนี้มักมีผู้เขียนผิดอยู่บ่อยๆ  ที่ว่าผิดก็คือ ตรงคำว่า รด นี้แหละค่ะ  สับปะรด มักมีผู้เขียนเป็น สับปะรส บ้าง หรือ สัปรส บ้าง  สับปะรด เป็นไม้ล้มลุกไม่มีลำต้นปรากฏบนพื้นดิน ใบเป็นกาบยาวมีหนามตามขอบใบ ผลมีตาโดยรอบ เนื้อมีรสเปรี้ยวๆหวานๆ  ด้วยเหตุที่ผลของสับปะรดมีลักษณะคล้ายตารอบผล จึงนำมาเปรียบเทียบผูกเป็นสำนวนว่า ตาเป็นสับปะรด มีความหมายว่า มีพรรคพวกคอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้อยู่รอบข้าง 
        คำว่า สับปะรด ยังถูกนำมาใช้กล่าวถึงการกระทำที่ใช้ได้หรือ ใช้ไม่ได้ เช่น ลองชิมคุกกี้ดูหน่อยสิว่าจะเป็นสับปะรดไหม  แต่ถ้าหากต้องการจะสื่อว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ก็จะเติมคำว่า ไม่ ไว้ข้างหน้าคำ สับปะรด เป็น ไม่เป็นสับปะรด ก็หมายถึง ไม่ได้เรื่อง ไม่ดี เช่น  ฝีมือทำกับข้าวไม่เป็นสับปะรด ใครจะไปกินลง  อย่างนี้เป็นต้น